เมืองเก่า

ที่ตั้งชุมชนสมัยทวารวดี

แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเมื่อราว 1,400 ปีมาแล้ว พบแนวสันทรายเป็นช่วง ๆ ระดับน้ำทะเลในสมัยนั้นอยู่สูงกว่าปัจจุบันประมาณ 3.5-4 เมตร ลักษณะของอ่าวไทยเป็นอ่าวลึกเว้าเข้าไปห่างจากแนวชายฝั่งทะเล ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณอู่ทองในสมัยนั้นเป็นเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกและทางน้ำทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีลำน้ำจระเข้สามพันเชื่อมกับลำน้ำต่าง ๆ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับนานาประเทศ เช่น โรมัน เปอร์เซีย อินเดีย ในเวลาต่อมาชายฝั่งทะเลเริ่มถอยห่างออกไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำ เกิดการทับถมของตะกอนแม่น้ำจนเกิดเป็นแนวชายฝั่งในปัจจุบัน ส่งผลให้เมืองอู่ทองเริ่มหมดความสำคัญไปในที่สุด

จากแผนที่โบราณนี้ ทำให้ทราบว่าทะเลสมัยทวารวดีมีอาณาบริเวณ กว้างใหญ่ไพศาล โดยจังหวัดกรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐมและนครนายก เป็นทะเลโบราณในอดีต

ความเป็นมาของอารยธรรมทวารวดีที่อู่ทอง

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า ดินแดนที่เป็นเมืองโบราณอู่ทองนั้นเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มายาวนานตั้งแต่ราว ๓๐๐๐-๒๕๐๐ ปีก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ โดยมีการค้นพบหลักฐานจำพวกขวานหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กปั่นด้าย ฉมวก หอก อาวุธโบราณ และเครื่องใช้ไม้สอยโลหะอื่นๆอีกมากมาย

หลังจากนั้นชุมชนได้เติบโต เริ่มทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติจนพัฒนาเป็นเมืองท่าชายฝั่ง เพราะดั้งเดิมที่เป็นชุมชนชายฝั่งริมทะเล มีเรือสินค้าของชาวต่างชาติแวะเวียนเข้าออก โดยในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ ขึ้นไปเมืองอู่ทองมีบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญ(หากดูในแผนที่โบราณที่จะพบว่า อู่ทองเป็นเมืองติดทะเล ส่วนกรุงเทพฯ อยุธยา สมัยนั้นยังไม่เกิด เพราะผืนแผ่นดินบริเวณนี้ยังเป็นทะเลอยู่เลย)

ราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 วัฒนธรรมอินเดียที่รุ่งโรจน์ในยุคนั้นได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิปรากฏอย่างชัดเจนในอู่ทอง มีการค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนา การใช้ภาษาและตัวอักษรแบบ “ปัลลวะ” เป็นต้น

วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาจากภายนอกได้มาผสมผสานกับวัฒนธรรมภายในของท้องถิ่น เกิดเป็น “วัฒนธรรมทวารวดี” ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุควัฒนธรรมสมัยแรกสุดของเมืองไทย มีหลักฐานการสร้างตัวเมืองเป็นผังรูปวงรี กว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ

อู่ทองยังเป็นดินแดนศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งสุวรรณภูมิ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเขาทำเทียมในปัจจุบัน มีการค้นพบโบราณวัตถุเป็นก้อนหินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี” ที่หมายถึงภูเขาแห่งดอกไม้ และค้นพบธรรมจักรศิลาที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทยที่วัดแห่งนี้เช่นกัน (ศิลปวัตถุทั้ง ๒ ชิ้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง)

การศึกษาเกี่ยวกับทวารวดีได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 ในยุคเริ่มต้นของการศึกษานั้น นายแซม มวล บีล (Samuel Beal) ได้แปลบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจัง (Xuanzang) หรือที่รู้จักกันดีในนามของพระถังซัมจั๋ง พระภิกษุเหี้ยนจังได้เดินทางจากจีนไปสืบศาสนาในอินเดียโดยทางบกในปี พ.ศ. 1172 และเดินทางกลับจีนในปี พ.ศ. 1188 เอกสารเล่มนี้ชื่อว่า Si-yu-ki Buddhist records of the Western world โดยในบันทึกกล่าวถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับดินแดนที่อยู่ระหว่างพม่ากับเขมร ปรากฏชื่อคือ โถ-โล-โป-ตี (To-lo-po-ti) ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าหมายถึง ทวารวดี อันเป็นอาณาจักรหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2439 นายตากากุสุ (J. Takakusu) ได้แปลบันทึกการเดินทางของพระภิกษุคือ อี้จิง (I-Tsing) ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวจีนที่เดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย แต่ใช้วิธีการเดินทางด้วยทางน้ำในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ปรากฏในเอกสารชื่อ A Record of the Buddhist Religion as practiced in India and the Malay Archipelago โดยกล่าวว่า ได้เดินทางออกจากเมืองกวางตุ้งด้วยเรือเพื่อมุ่งหน้าไปอินเดีย เมืองและอาณาจักรที่สำคัญตามเส้นทางได้แก่ หลินยี่ ฟูนัน ทวารวดี ลังเจียชู ศรีวิชัย และโมโลย

ในปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งทรงตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเมืองอู่ทองว่า “เมืองท้าวอู่ทองเห็นว่าเป็นเมืองใหญ่มีกำแพงเมือง ๒ ชั้น มีสระใหญ่ ๆ ขุดไว้หลายสระ ข้างในเมืองมีโคกอิฐ ซึ่งน่าจะเป็นวัดวาของเก่ามากมายหลายแห่ง เจดีย์ยังคงรูปอยู่ก็มีบ้าง พบพระพุทธรูปที่มีฝีมือช่างเดียวกับที่พบที่พระปฐมเจดีย์ รวมทั้งได้พบเหรียญตราสังข์ อย่างเดียวกับที่ขุดได้ที่จุลปะโทน สันนิษฐานว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองสมัยเดียวกับเมืองโบราณที่พระปฐมเจดีย์”

การศึกษาเกี่ยวกับศิลปะทวารวดีได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงระหว่างปี พ.ศ. 2468-2473โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักภาษาศาสตร์แห่งสำนักงานฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ (G. Coedes) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ศิลปะทวารวดี” ขึ้นเป็นครั้งแรกว่าหมายถึงประติมากรรมทางพุทธศาสนาที่มีลักษณะดั้งเดิมเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะมีอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะผสมอยู่ด้วย แต่ทั้งสองท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองหลวงทวารวดีแตกต่างกัน

โดยในปี พ.ศ. 2469 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกำหนดเรียกสมัยทวารวดีโดยตั้งข้อสันนิฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. 500 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ส่วนศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้เข้ามารับราชการในไทยในตำแหน่งบรรณารักษ์ได้ทำการอ่านจารึกและศึกษาค้นคว้าโบราณคดีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2471 ได้เสนอบทความไว้ในวารสาร Ars Asiatica กล่าวว่า มีรัฐชื่อทวารวดีอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะศิลปะใกล้เคียงกับแบบคุปตะของอินเดียโดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณทิศตะวันตกและเหนืออ่าวไทย รวมทั้งเชื่อว่าเมืองอู่ทองคือเมืองหลวงของอาณาจักรนี้ ต่อมาศาสตราจารย์เซเดส์ได้อ่านจารึกบนเหรียญเงินสองเหรียญ พบที่นครปฐมและอู่ทอง กล่าวถึง ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ ว่าหมายถึง บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี

นักวิชาการต่างชาติหลายท่านเข้ามาทำการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่อู่ทอง เช่น นายควอริทช์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2504-2509 ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีจากสำนักงานฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ คือ ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยอร์ (Jean Boisselier) มาร่วมขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง 

จากการศึกษาครั้งนี้เองศาสตราจารย์บวสเซอลิเยอร์ได้เสนอบทความที่สำคัญคือ “เมืองอู่ทองและความสำคัญของเมืองอู่ทองในประวัติศาสตร์ไทย” (U-Thong et son importance pour l’histoire de Thailande) โดยเสนอว่าเมืองอู่ทองเป็นเมืองเอกที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าเคยเป็นดินแดนอาณาจักรฟูนัน โดยเปรียบเทียบศิลปวัตถุที่พบว่ามีความใกล้เคียงกับที่ปราจีนบุรีและเมืองออกแก้ว เมืองอู่ทองได้เจริญจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18 และถูกทอดทิ้งอย่างกะทันหัน อาจมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติและอื่นๆ การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง เท่ากับเป็นการยืนยันว่ามีอาณาจักรอยู่จริงตามที่กล่าวไว้ในจดหมายของจีน รวมทั้งพบหลักฐานที่สำคัญคือ จารึกพบแผ่นทองแดง ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ที่กล่าวถึงพระนามพระมหากษัตริย์คือ พระเจ้าหรรษะวรมัน ดังนั้น อู่ทองจึงน่าจะเป็นเมืองของพระองค์

ผลการศึกษาเกี่ยวกับทวารวดีในประเทศไทย มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลและเรื่องราวของอารยธรรมทวารวดีชัดเจนขึ้น ผู้วิจัยที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับทวารวดีได้แก่ ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดทำรายงานการขุดค้นทางโบราณคดี งานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการตีความวิเคราะห์วิจัยโดยใช้ข้อมูลทางโบราณคดี นำมาศึกษาเชิงวิเคราะห์ นับเป็นผลงานค้นคว้าทางโบราณคดี ที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล

เอกสารอ้างอิง  

  1. ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ “วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย” หนังสือศิลปะทวารวดี ปี 2547 สำนักพิมพ์เมืองโบราณ หน้า 14-19. หนังสือคู่มือนำชม
  2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองและเรื่องราวสุวรรณภูมิ สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หน้า 51.
  3. ภาพประกอบ ข้อมูลและโบราณวัตถุที่แสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง
เรียบเรียงโดย เพจเกร็ดประวัติศาสตร์ v2จากเพจ ตาล พระนคร เฟซบุ๊ค
ประเทศไทย 2328-2566
แนวเทือกเขาของไทย
Carbon Credit
สัญลักษณ์รักษ์โลก
ประเภทของพลาสติก
ธาตุทั้ง 5
การผูกเชือก
ต้นไม้ลดฝุ่น PM 2.5
สาเหตุ PM 2.5
พลังงานหมุนเวียน
เอลนีโญ - ลานีญา
ต้นกำเนิดแม่น้ำโขง