บุคคลสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)
เรามักจะคิดว่า บุคคลสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เป็นคนที่คาดหวังกับตัวเองสูงเท่านั้น แต่ Thomas Curran นักจิตวิทยาสังคม กล่าวว่าความเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบนั้นมี 3 มิติด้วยกัน
คาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ หรือ SOP: Self-Oriented Perfectionism
รู้สึกว่าคนรอบข้างคาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ หรือ SPP: Socially-Prescribed Perfectionism
คาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์แบบ หรือ OOP: Other-Oriented Perfectionism
มิติแรก SOP คือการคาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ ซึ่งขับเคลื่อนมาจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองยังดีไม่พอ/ยังเก่งไม่พอ/ยังมีไม่พอ (I'm not enough) จึงต้องพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีไม่มีที่ติ เพื่อกลบความรู้สึกขาดแคลนนี้
มิติที่สอง SPP คือมีความรู้สึกว่าถูกคาดหวังจากคนรอบตัวให้เราสมบูรณ์แบบ อันนี้จะเกิดกับคนชาวเอเชียมากกว่าชาวตะวันตก เพราะคนเอเชียมีความเป็นหมู่คณะ (collectivist) สูง คืออยู่กันเป็นหมู่เป็นครอบครัว พ่อแม่มักมีความคาดหวังต่อลูกหลานมาก ซึ่งลูกก็มักจะแบกความคาดหวังนั้นไว้ตั้งแต่ตอนเรียน จนกระทั่งถึงวัยทำงาน
มิติที่สาม OOP คือการคาดหวังให้ผู้อื่นสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สตีฟ จ็อบส์ ที่คาดหวังสูงกับทุกคนรอบตัว และไม่เคยประนีประนอมกับความไม่สมบูรณ์แบบ
Thomas Curran กล่าวว่า ความเป็นคนสมบูรณ์แบบไม่ใช่ขาวหรือดำ แต่เป็นลักษณะของการมีดีกรีความเข้มข้นได้หลายเฉด คนหนึ่งคนสามารถมีความสมบูรณ์แบบได้ทั้งสามมิติ มากน้อยแตกต่างกันไป
การทดสอบความเป็นคนสมบูรณ์แบบมิติใด
หากอยากรู้ว่าบุคคลเป็นคนสมบูรณ์แบบแนวใด ให้ลองทำแบบทดสอบต่อไปนี้ โดยให้ 5 คะแนน สำหรับข้อที่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง และให้ 1 คะแนน สำหรับข้อที่ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
SOP : Self-Oriented Perfectionism
______ ฉันพยายามที่จะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ
______ ฉันตั้งมาตรฐานให้กับตนเองไว้สูงมาก
______ หากฉันทำผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่อง ฉันจะตำหนิตัวเองอย่างหนัก
______ ฉันต้องสมบูรณ์แบบในสิ่งที่สำคัญสำหรับฉัน
______ ฉันจะรู้สึกผิดและอับอาย หากฉันไม่สามารถทำอะไรออกมาได้สมบูรณ์แบบ
SPP : Socially-Prescribed Perfectionism
______ หากฉันทำพลาด ก็มีคนพร้อมที่จะวิจารณ์ฉัน
______ คนอื่นดูสมบูรณ์แบบ และพวกเขาจะตัดสินฉันหากฉันไม่สมบูรณ์แบบ
______ คนใกล้ชิดของฉันจะรับไม่ได้หากฉันไม่สมบูรณ์แบบ
______ ผู้คนมักจะโกรธหากฉันไม่ทำอะไรให้สมบูรณ์แบบ
______ ทุกคนคาดหวังให้ฉันสมบูรณ์แบบ
OOP : Other-Oriented Perfectionism
______ เป็นเรื่องยากที่จะอดทนกับการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานของคนรอบข้าง
______ หากผู้คนไม่พยายามอย่างเต็มที่ ฉันจะบอกให้พวกเขารู้
______ ทุกคนควรเป็นเลิศในสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา
______ เมื่อคนใกล้ชิดทำพลาดหรือบกพร่อง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตือนพวกเขา
______ ฉันไม่ชอบให้คนที่มีมาตรฐานต่ำอยู่รอบตัวฉัน
ให้นำคะแนนของแต่ละหมวดมารวมกัน หมวดใดคะแนนมาก บ่งชี้ว่าเราเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบแบบใด
ข้อเสียของการเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบ
มีความสุขได้ยากกว่าคนทั่วไป
ไม่ได้รู้สึกภูมิใจหรือชื่นชมตัวเอง เมื่อทำงานสำคัญสำเร็จ แต่จะรู้สึก "โล่งใจ" ที่จบงาน และไม่มีใครมาว่าได้แต่ความโล่งใจนั้น จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะจะกังวลกับงานชิ้นต่อไป หรือตั้งเป้าหมายใหม่ด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่งกว่าเดิม และจะเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งถึงจุดที่ไม่สามารถทำได้ตามที่ตัวเองคาดหวังอีกต่อไป
มีโอกาส "หมดไฟ" (burnout) สูงกว่าคนธรรมดามาก
แรงขับสำคัญไม่ได้มาจากความต้องการบรรลุความเป็นเลิศ แต่เป็นความกลัวที่จะล้มเหลว ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่ายากเกินไป จะมีแนวโน้มที่จะ "หนี"
ไม่ได้มี performance ในการทำงานดีกว่าคนทั่วไ
(OOP) มักจะมีปัญหาความสัมพันธ์ด้านการงานกับคนอื่น
แก้ไขอาการเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบได้อย่างไร
ให้เข้าใจก่อนว่า ความเป็นบุคคลสมบูรณ์ ไม่ใช่ความผิดของเรา (เป็นเพราะยีนส์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด สภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และสังคมออนไลน์ ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยลงกว่ายุคก่อน
ให้ฝึกการมีเมตตาต่อตนเอง (self-compassion) ไม่ตำหนิตัวเองมากเกินไป เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนี่เองที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์
ให้เดินเข้าหาสิ่งที่กลัว เลิกวิ่งหนีความล้มเหลว ให้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ
เมื่อคุ้นเคยกับความไม่สมบูรณ์แบบ ความเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบ ก็น่าจะบรรเทาลงเช่นกัน
ขอบคุณ
Anontawong's Musings