เมืองเพื่อผู้สูงอายุ

การออกแบบเมืองที่ดี สร้างผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ 8 ด้าน ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)

ความเป็นเมืองของไทยอยู่ที่เท่าไร

ความเป็นเมือง หมายถึง สัดส่วนหรือร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง (เขตเทศบาล) ข้อมูลจากการสำมะโนประชากร พบว่า ช่วงเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ความเป็นเมืองของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 ใน พ.ศ. 2503 เป็นร้อยละ 44.0 ใน พ.ศ. 2553 และมีการประมาณว่า ความเป็นเมืองของไทย จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.91 ใน พ.ศ. 2562 หมายความว่า ขณะนี้กว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยอาศัยอยู่ในเมือง2

แล้วผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองมีเท่าไร

การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ อันหมายถึง การมีผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 20 จะส่งผลถึงการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในเมืองเช่นกัน ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย3 พบว่า ประชากรในเขตเมือง ที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากจำนวนประมาณ 3.9 ล้านคน (ร้อยละ 13.1) ใน พ.ศ. 2555 เป็น 5.4 ล้านคน (ร้อยละ 15.6) ใน พ.ศ. 2560 และจะเพิ่มเป็น 14.3 ล้านคน (ร้อยละ 29.7) ใน พ.ศ. 2580 เป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในเวลา 25 ปี

ตัวเลขนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมืองของไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุแล้ว และในอีกประมาณ 4-5 ปี เราจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์

สร้างเมืองอย่างไรให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

ความเป็นผู้สูงอายุ มีนัยถึงความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุที่เพิ่มและยืนยาวขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการ เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุในเมืองที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

องค์การอนามัยโลก (WHO) มีแนวคิดเกี่ยวกับเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-friendly cities and communities) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยเน้นการสร้างเมืองให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับทุกคนในสังคมเมืองได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีองค์ประกอบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ4 8 องค์ประกอบ ได้แก่

ให้การออกมาใช้ชีวิตและมีกิจกรรมนอกบ้านส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้สูงอายุ ต้องมีการเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น การมีทางเดินเท้าที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ การมีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะเพื่อพักผ่อน สันทนาการ และมีสัญญาณไฟที่เอื้อต่อการข้ามถนนของผู้สูงอายุ 

ต้องมีระบบขนส่ง/ขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อการเดินทางของผู้สูงอายุ เช่น เมืองโทยามะของญี่ปุ่น มีระบบไฟฟ้ารางที่ออกแบบพื้นของรถรางให้ต่ำเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ใช้รถเข็น สามารถขึ้นลงได้สะดวก5 รวมถึงการจัดที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง ที่พักอาศัยที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของสังคมเมือง อาจทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพัง จึงควรมีบ้านพักที่มีการออกแบบ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้สูงอายุ รวมถึงการมีระบบการดูแลจากชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถที่ตนสนใจ ควรมีกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุควรมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรุ่นต่าง ๆ รวมถึงการไม่มีอคติต่อการเป็นผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจำนวนมากมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงควรมีโอกาสได้รับการจ้างงาน มีช่องทางได้ทำงานตามอัตภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) เช่น การขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการสร้างงาน และการจ้างงาน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจการทำงานให้ผู้สูงอายุ

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งเพื่อการเรียนรู้ และการสื่อสาร เช่น การสื่อสารในสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ต้องมีกระบวนการคุ้มครองผู้สูงอายุไม่ให้ถูกหลอกลวงจากการใช้ข้อมูลสารสนเทศ

ควรมีการดำเนินการเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

👴 องค์ประกอบทั้ง 8 ที่องค์การอนามัยโลกเสนอนี้ เป็นแนวทางเพื่อให้เกิดเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ สำหรับในประเทศไทย แม้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ต้องใช้เวลาผลักดันให้เกิดขึ้น

ขอบคุณ1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. (2562). สารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 6 มกราคม 2563 จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Gazette.aspx2 การศึกษาเรื่องเมืองมีความซับซ้อนจากคำจำกัดความของคำว่าเมืองที่ต่างกัน โดยแต่ละประเทศ/ แต่ละพื้นที่กำหนดความหมายของ “เมือง” ไว้เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง จึงทำให้ยากที่จะเปรียบเทียบความเป็นเมืองระหว่างกันได้ สำหรับประเทศไทย เมืองหมายถึง เขตเทศบาล ซึ่งการใช้เทศบาลก็เคยเป็นความซับซ้อนในการศึกษาความเป็นเมืองของไทย จากการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของเทศบาล 3 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.). (2562). รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)4 WHO. (2007). Global Age-friendly Cities: A Guide. France: World Health Organization.5 แซมสุดา เข้มงวด. (2560). ไม่ใช่แก่เกินแกง แต่แก่เกินเมือง: ว่าด้วยเมือง ผู้สูงอายุ และอนาคต. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จาก http://uddc.net/th/knowledge โดย กาญจนา ตั้งชลทิพย์