การเรียนรู้และพัฒนาคนแต่ละยุค
คนแต่ละยุค เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปด้วย ระบบการเรียรู้และพัฒนาขององค์การ จึงไม่ควรยึดถือที่รูปแบบเดียว (One Size Doesn’t Fit for All)
Gen Z ชอบ สั้นและกะทัดรัด (Microlearning)
Generation Z เป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดในที่ทำงาน ที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และคุ้นเคยกับการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในการเรียนรู้ด้วยตัวเองในชีวิตประจำวัน พวกเขาชอบเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอสั้น ตามความสนใจของตัวเอง
การออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนกลุ่มนี้
ควรล้อไปกับธรรมชาติการเรียนรู้ด้วยตัวเองของพวกเขา เช่น การซอยเนื้อหาให้เป็น module เล็ก ๆ และการรวมวิดีโอเข้าไว้ในบทเรียน รวมถึงการเลือกรูปแบบ (platform) การเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายเพียงการกดไม่กี่ครั้ง
สร้างประเด็นที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา และต้องดึงความสนใจให้ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
คนรุ่นนี้ (และ Gen Y) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง มากกว่าภัคดีต่อองค์การ (loyalty) และมีความคาดหวังให้องค์การจัดหาการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตให้อย่างสม่ำเสมอ
Gen Y ชอบมีเพื่อนเรียน
Generation Y (Millennials) เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับการพัฒนาของ social media มีพ่อแม่คอยใส่ใจดูแลการเรียนของพวกเขาอย่างใกล้ชิด
คนรุ่นนี้จึงชอบเรียนร่วมกับเพื่อน และชอบที่จะเรียนในรูปแบบที่มีการโต้ตอบและมีความตื่นเต้น เช่น การเรียนผ่านเกม รวมถึงการเรียนรู้ที่มีเพื่อนเป็นคนสอน
การออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนกลุ่มนี้
พวกเขาคาดหวัง ให้มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นในลักษณะออนไลน์หรือไม่ คนรุ่นนี้ยังเป็นอีกรุ่นที่ชอบเนื้อหาเข้าถึงง่าย ไม่ต้องใช้สมาธิมากนัก
เนื่องจากคนกลุ่มนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการสร้างความมั่นคง สร้างครอบครัว หรืออาจเป็นเสาหลักในครอบครัว ทำให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมาก คนรุ่นนี้จึงใส่ใจกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาก เพื่อให้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน และเงินเดือนสูงขึ้น
กล่าวได้ว่า เป้าหมายหลักในการเรียนรู้ของคนรุ่นนี้ คือการเรียนเพื่อทักษะที่ส่งผลดีต่องานของตน นั่นเอง
Gen X ชอบการเรียนแบบฟังบรรยาย (lecture)
Generation X เป็นกลุ่มคนจำนวนมากเป็นอันดับสองในตลาดแรงงาน รองจาก Generation Y ไม่มาก จึงมีโอกาสเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบางองค์การเช่นกัน
คนรุ่นนี้เติบโตมากับพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงาน (working parents) จึงไม่ชอบความจุกจิกเจ้ากี้เจ้าการ พวกเขาคุ้นชินกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงคล้ายกับคน Gen Z ที่มีความต้องการการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง
การออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนกลุ่มนี้
คน Generation X โตมากับห้องเรียนแบบดั้งเดิม (classic) จึงมักชอบการเรียนในรูปแบบฟังบรรยาย (lecture base) ที่มีรูปแบบชัดเจน และเรียนรู้ผ่านการรับข้อมูล มากกว่าการลงมือทำ
เนื่องจาก คนรุ่นนี้ต้องการความมั่นคงในอาชีพ จึงต้องการเรียนในเนื้อหาที่ช่วย upskill และ reskill ที่ทำให้เขาทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้จริง คำถามที่มักพบบ่อยในคนรุ่นนี้คือ “เรียนแล้วได้อะไร”
แม้คน Generation X จะไม่ได้เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี แต่พวกเขาก็กล้าลอง และไม่กลัวที่จะเรียนรู้ เพียงให้เป็นระบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะฝึกฝนเพื่อให้สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง
Baby Boomers อยากเรียน แต่ไม่ค่อยมีโอกาส
Baby Boomers กลุ่มคนวัยเก๋าช่วงเวลาเกษียณ มักไม่ค่อยมีโอกาสได้ร่วมรับการอบรมความรู้กับองค์การมากนัก อาจได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บ้างในบางครั้ง
พื้นฐานของคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่มีการศึกษาดี เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาและประกาศนียบัตร คนรุ่นนี้ชอบเรียนรู้จากคนที่ตัวเองชื่นชม โดยมองว่าเป็นกูรูในด้านนั้น ๆ และต้องการเรียนรู้กับสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นผู้เรียนที่ดีที่องค์การสามารถกำหนดได้ ว่าจะให้พวกเขาเรียนอะไร ที่ไหน เมื่อใด
การออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนกลุ่มนี้
ชาว Baby Boomers ชอบเรียนแบบฟังบรรยายและจดบันทึก (lecture base) เช่นเดียวกับ Gen X แต่ชอบเรียนแบบเผชิญหน้า (face-to-face) มากกว่าเรียนแบบออนไลน์
ชาว Baby Boomers ชอบการแข่งขันที่ไม่จริงจังมากนัก และชอบมีโอกาสเข้าร่วมตอบคำถาม เพื่อแสดงความรู้ หรือแชร์ประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมานาน
สรุป
การเรียนรู้และพัฒนาการ โดยอ้างอิงจากคนแต่ละยุคนี้ แม้อาจดูเหมือนเป็นการเหมารวม แต่ก็ทำให้เห็นแนวคิด และพฤติกรรมบุคคลโดยสังเขป เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นได้
เมื่อพนักงานรู้สึกต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้น ย่อมส่งผลดี ทั้งต่อตัวพนักงานและองค์การ แบบ win-win ทั้งสองฝ่าย นั่นเอง
ความหมาย Output, Outcome และ Impact
Input Process Output เป็น กระบวนการพื้นฐานของการจัดการทุกประเภท
ผลที่เกิดจากกระบวนการ เรียกว่า ผลลัพธ์ (Output)
ผลที่เกิดจากผลลัพธ์ เรียกว่า ผลสัมฤทธิ์ (Outcome)
ผลที่เกิดจากผลสัมฤทธิ์ เรียกว่า ผลกระทบ (Impact)
ผลที่เกิดจากกระบวนการนั้น ย่อมนำไปสู่ผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งผลกระทบในมุมใกล้สู่บุคคล-หน่วยงาน เรียกว่า Outcome และผลกระทบในมุมไกลสู่องค์การ-สังคม เรียกว่า Impact [ธงชัย สิทธิกรณ์]
ความหมาย Hard กับ Soft
Hard (Touchable) หมายถึง สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ ได้แก่ ตา-ได้มองเห็น หู-ได้ยิน จมูก-ได้กลิ่น ลิ้น-ได้รส และ กาย-ผิวสัมผัส
Soft (Untouchable) หมายถึง สิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ แต่สัมผัสได้ด้วยสัมผัสที่หก เช่น จิตวิญญาณ สัญชาตญาณ และความเชื่อ อันเป็นสัมผัสที่แฝงอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิด [ผลการวิจัยของนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์และมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร] , [ธงชัย สิทธิกรณ์]