ทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom
Bloom’s Taxonomy of Learning
พฤติกรรมการเรียนรู้ และจิตวิทยาพื้นฐาน
หัวใจการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
หัวใจการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
ด้านสมองและสติปัญญา การคิด การรับรู้ จำแนกเป็น ความรู้ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์
เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสมอง สติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญาที่ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้
พฤติกรรมที่เกี่ยวกับสมองและสติปัญญา (Cognitive Domain) แบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่
การจดจำ (Remember) การใช้ความจำเพื่อสร้างหรือค้นหานิยาม ข้อเท็จจริง หรือทบทวนข้อมูลที่เรียนมาก่อนหน้า ซึ่งการที่ผู้เรียนจะสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่เรียนคือสิ่งใด มาจากไหน นั้นเกิดจากการจดจำ ดังนั้น ความรู้ที่เกิดจากความจำ (Knowledge) เป็นความสามารถของสมองในการระลึกได้ จำความรู้ สารสนเทศ แสดงรายการได้ ระบุบอกชื่อได้ ซึ่งเป็นความจำระยะยาว
การทำความเข้าใจ (Understand) สร้างเข้าใจความสัมพันธ์ ความหมายของสิ่งที่ได้เรียนจากองค์ความรู้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นข้อความ ภาพ หรือกิจกรรม เช่น การสื่อสาร การแปลความ การยกตัวอย่าง การจำแนก การสรุป สู่การนำเสนอหรือสามารถอธิบายตามความเข้าใจของตัวเองได้ ดังนั้น ความเข้าใจ (Comprehend) เป็นความสามารถของสมองในการแปลความหมายยกตัวอย่าง สรุป อ้างอิง การศึกษาของตัวเอง
การประยุกต์ใช้ (Apply) ผู้เรียนสามารถใช้เนื้อหา ความรู้ที่เรียนมาไปใช้เป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดในสถานการณ์ใหม่ หรือสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันเพื่อนำไปปฏิบัติ และใช้ในการแก้ปัญหาได้ เช่น รูปแบบการนำเสนอผลงาน
การวิเคราะห์ (Analyze) ความสามารถในการแยกแยะข้อมูล ที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาคิดอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งหาความสัมพันธ์ เชื่อมโยงเเละเหตุผลได้ สามารถแก้ปัญหา ตรวจสอบได้ การแยกความรู้ออกเป็นส่วน ๆ โดยสามารถให้เหตุผลว่าความรู้ส่วนย่อยที่แยกแต่ละส่วน มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของความรู้ทั้งหมดอย่างไร
การประเมิน (Evaluate) การที่ผู้เรียนสามารถใช้ความสามารถของสติปัญญาเกี่ยวกับการตรวจสอบ ควบคุม ทดสอบ เพื่อค้นหาความไม่สอดคล้องหรือความขัดแย้งในกระบวนการ หรือผลผลิตการวิพากษ์ต่าง ๆ เพื่อการตัดสินใจ การตั้งเกณฑ์ตัดสิน เปรียบเทียบคุณภาพหรือประสิทธิภาพของการเรียนรู้ได้ สามารถตัดสินใจตรวจสอบ
และไตร่ตรองคุณค่าของข้อมูลได้การสร้างสรรค์ (Create) ความสามารถในสติปัญญาในการสร้างสิ่งใหม่ จากลิ่งที่เคยเรียนรู้ หรือพบเห็นในบริบทต่าง ๆ ที่สามารถในการสร้างสรรค์งานวางแผนงาน และดำเนินตามกระบวนการจนได้รับความสำเร็จ เป็นการนำเอาความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยง และจัดระบบใหม่ให้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์
2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain)
ด้านอารมณ์ จำแนกเป็น ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย ทักษะการเคลื่อนไหวอวัยวะหลายส่วนพร้อมกัน ทักษะการสื่อสารด้วยท่าทาง และทักษะพฤติกรรมทางการพูด
เป็นพฤติกรรมที่มิได้เกิดขึ้นทันทีทันใด คือ ค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจ และคุณธรรม
ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ พฤติกรรมด้านอารมณ์ (Affective Domain) แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
การรับรู้หรือการใส่ใจต่อสิ่งเร้า (Receiving or Attending) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฎการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
การตอบสนอง (Responding) เป็นการแสดงออกในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพึงพอใจต่อสิ่งเร้า
การเห็นคุณค่า (Valuing) การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในสังคม หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติในสิ่งนั้น
การจัดระบบค่านิยม (Organization) การสร้างแนวคิด จัดระบบค่านิยม โดยอาศัยความสัมพันธ์ หากเข้ากันได้ก็จะยึดถือ แต่หากขัดกันอาจไม่ยอมรับ หรืออาจยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า
บุคลิกภาพแสดงลักษณะ (Characterization) การใช้ค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม พฤติกรรมด้านนี้เกี่ยวข้องกับกับความรู้สึกและจิตใจ ความรักความผูกพัน โดยเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นค่านิยม และพัฒนาต่อไปเป็นทัศนคติ (Attitude)
3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
ด้านการเคลื่อนไหวทางกายที่กำหนดโดยจิตใจ จำแนกเป็น การรับรู้ การตอบสนอง การสร้างค่านิยม การจัดระบบ และการสร้างคุณลักษณะจากค่านิยม
เป็นพฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างชำนาญ คล่องแคล่ว โดยมีระยะเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับทักษะ
พฤติกรรมด้านทักษะความสามารถ (Psychomotor Domain) แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
การเลียนแบบ (Imitation) เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
การทำตามสั่ง หรือคำแนะนำ (Manipulation) เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจ และพยายามทำซ้ำ เพื่อที่ให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจ รวมถึงความสามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อแนะนำ
การหาความถูกต้อง (Precision) สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยการแนะนำ เมื่อได้ทำซ้ำแล้ว ก็มุ่งหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
การกระทำอย่างต่อเนื่อง (Articulation) การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำอย่างสม่ำเสมอตามรูปแบบ จนสามารถปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างคล่องแคล่ว ถูกต้อง และรวดเร็ว
การกระทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Naturalization) พฤติกรรมที่เป็นผลจากการฝึกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถ ปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเป็นอัตโนมัติ ถือเป็นทักษะการปฏิบัติในระดับสูง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ
https://web.rmutp.ac.th/woravith/?page_id=11322