หลักเกณฑ์การเทียบศักราช

ศักราช

ศักราช หมายถึง อายุเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญ เรียงลำดับกันเป็นปีๆศักราชที่นิยมใช้กันและที่สามารถพบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ 


พุทธศักราช (พ.ศ.) เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งแต่เดิมนับเอาวันเพ็ญเดือนหก เป็นวันเปลี่ยนศักราช ต่อมาเปลี่ยนแปลงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนแทน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มนับตามแบบสากล คือ วันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา 


คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูเกิด เป็นค.ศ. 1 ซึ่งในขณะนั้นได้มีการใช้ พุทธศักราชเป็นเวลาถึง 543 ปีแล้ว การคำนวณเดือนของ ค.ศ. จะเป็นแบบสุริยคติ ดังนั้น วันขึ้นปีใหม่ของ ค.ศ. จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี 


มหาศักราช (ม.ศ.) เริ่มนับเมื่อพระระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์ผู้ครอง คันธาระราฐของอินเดียทรงคิดค้นขึ้น ภายหลังได้เผยแพร่เข้าสู่บริเวณสุวรรณภูมิและประเทศไทย ผ่านทางพวกพราหมณ์และพ่อค้าอินเดียที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในดินแดนแถบนี้ 


จุลศักราช (จ.ศ.) เริ่มนับเมื่อ พ.ศ. ผ่านมาได้ 1,181 ปี โดยนับเอาวันที่พระเถระพม่ารูปหนึ่ง นามว่า "บุพโสระหัน" ลึกออกจากการเป็นพระ เพื่อชิงราชบัลลังก์ในสมัยพุกามอาณาจักรการนับเดือน ปี ของ จ.ศ. จะเป็นแบบจันทรคติ โดยถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ 


รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เมื่อ พ.ศ. ผ่านมาได้ 2,325 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติขึ้น โดยเริ่มนับวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร เป็น ร.ศ. 1 และวันเริ่มต้นปี คือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ได้ยกเลิกการใช้ ร.ศ. 


ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) เป็นศักราชทางศาสนาอิสลาม เริ่มนับเมื่อท่านนบีมุฮัมหมัด กระทำฮิจเราะห์ (Higra แปลว่า การอพยพโยกย้าย) คือ อพยพจากเมืองเมกกะ ไปอยู่ที่เมืองเมดินะ เป็นปีเริ่มต้นของศักราชอิสลาม


การเปรียบเทียบศักราช

สามารถกระทำได้ โดยนำตัวเลขผลต่างของอายุศักราชแต่ละศักราชมาบวกหรือลบศักราขที่เราต้องการ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

ม.ศ. + 621  = พ.ศ. 

พ.ศ. - 621   = ม.ศ. 

จ.ศ. + 1181 = พ.ศ. 

พ.ศ. - 1181 = จ.ศ. 

ร.ศ. + 2324 = พ.ศ. 

พ.ศ. - 2324 = ร.ศ. 

ค.ศ. + 543 = พ.ศ.

พ.ศ. - 543  = ค.ศ. 

ฮ.ศ. + 621  = ค.ศ. 

ค.ศ. - 621   = ฮ.ศ. 

ฮ.ศ. + 1164 = พ.ศ. 

พ.ศ. - 1164 = ฮ.ศ. 


ปัจจุบันศักราชที่ใช้กันมาก คือ คริสต์ศักราช และพุทธศักราช เมื่อเปรียบเทียบศักราช ทั้งสองต้องใช้ 543 บวกหรือลบแล้วแต่กรณี หากเทียบได้คล่องจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย หรือสากลได้ง่ายขึ้น 


ที่มา : ณรงค์ พ่วงพิศ และคณะ, หนังสือเรียนหลักประวัติศาสตร์ 1 กรุงเทพฯ : บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด , 2546เรียบเรียง โดยนายสมมานน  สินธุระเวชญ์  นักวิชาการที่ดินชำนาญการ  ส่วนมาตรฐานการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน สำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคั​ญ