30 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 30 สะพาน
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งล่าสุดถูกเรียกชื่อชั่วคราวว่า "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9" (บางคนเรียก สะพานพระราม 10) ในที่สุดเราก็ได้ชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ล่าสุดกันแล้วครับ นั่นคือชื่อ
"สะพานทศมราชัน"
(อ่านว่า "ทดสะมะราชัน" ไม่ใช่ ทอสอมอ หรือ ทะสม นะฮะ 😆)
วันนี้เราเลยจะมารวมรวมให้ทุกคนได้เห็นกันว่า ณ ปัจจุบัน กทม. และปริมณฑลของเรา มีสะพานข้ามแม่น้ำรวมทั้งหมดกี่สะพาน ซึ่งเราจะไล่ตั้งแต่เหนือลงใต้ รวมหมดทั้งสะพานรถยนต์ สะพานรถไฟ และสะพานคนเดินเลยครับ โดยตัวเลขในวงเล็บคือปีที่เปิดใช้งานนะครับ
----------
1. สะพานเชียงราก (2541) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก (ถนนกาญจนาภิเษก) ปัจจุบันกำลังมีการเตรียมสร้างสะพานคู่ขนานเพิ่มอีกฝั่งละ 3 เลน เพื่อเปลี่ยนสะพานเดิมตรงกลางให้เป็นมอเตอร์เวย์สาย 9 ในอนาคตครับ
2. สะพานปทุมธานี (2527) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนทางหลวงหมายเลข 346 ข้ามแม่น้ำตรงช่วงใกล้ตัวเมืองปทุมธานีครับ จากฝั่งเมืองปทุมพอข้ามไปแล้วจะตรงต่อไปเป็นเส้นเดียวกับถนนติวานนท์เลย
3. สะพานปทุมธานี 2 (2552) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนทางหลวงหมายเลข 345 สะพานนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบางเบาการจราจรมาจากสะพานถัดไป (สะพานนนทบุรี) โดยตัดเส้นทางใหม่จากแยกบางคูวัด ข้ามแม่น้ำไปบรรจบกับถนนรังสิต-ปทุมที่สามแยกบางพูน ตรงเข้ารังสิตได้
4. สะพานนนทบุรี (2501) - เป็นสะพานโครงเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมต่อย่านบางคูวัด-บางขะแยง ฝั่งปทุมธานี กับย่านศรีสมาน-สรงประภา ฝั่งนนทบุรี ตรงเข้าไปดอนเมืองได้ เคยมีชื่อเล่นว่า "สะพานนวลฉวี"
5. สะพานพระราม 4 (2549) - ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือปากเกร็ด เชื่อมถนนแจ้งวัฒนะกับถนนชัยพฤกษ์
----------
6. สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า (2551) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนรัตนาธิเบศร์ โดยสร้างมาเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนสะพานพระนั่งเกล้าเดิมที่คับแคบติดขัด
7. สะพานพระนั่งเกล้า (2528) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนรัตนาธิเบศร์ เชื่อมย่านแครายกับฝั่งบางบัวทอง-บางใหญ่
8. สะพานรถไฟฟ้าสายสีม่วง (2559) - รถไฟฟ้าสายที่ 5 ของกรุงเทพฯ วิ่งไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่ปลายทางสถานีคลองบางไผ่
9. สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (2558) - ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตัวเมืองนนทบุรี ใกล้กับโรงเรียนศรีบุณยานนท์ บนถนนนทบุรี 1 เชื่อมต่อกับถนนราชพฤกษ์แถวๆ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
10. สะพานพระราม 5 (2545) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนนครอินทร์ เชื่อมต่อมาจากปลายถนนติวานนท์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ ผ่านถนนราชพฤกษ์ ไปสิ้นสุดปลายทางที่ถนนกาษจนาภิเษก และในอนาคตจะต่อขยายไปถึงโซนพุทธมณฑล-ศาลายา
----------
11. สะพานพระราม 7 (2535) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อถนนวงศ์สว่าง (ฝั่งพระนคร) กับถนนจรัญสนิทวงศ์ (ฝั่งธนบุรี)
12. สะพานรถไฟฟ้าสายสีแดง (2555) - เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง และทางรถไฟทางไกลสายใต้ของ รฟท.
13. สะพานพระราม 6 (2470) - เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เดิมเป็นสะพานที่มีทั้งทางรถไฟและถนนรถยนต์ แต่หลังจากมีการก่อสร้างสะพานพระราม 7 ขึ้นมาทดแทน ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เหลือแต่ทางรถไฟอย่างเดียว ปัจจุบันยังมีรถไฟวิ่งอยู่บางขบวน
14. สะพานทางพิเศษประจิมรัถยา (2559) - เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายประจิมรัถยา (ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก) ทางด่วนที่เก็บค่าผ่านทางแพงที่สุดรองจากดอนเมืองโทลล์เวย์
15. สะพานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (2562) - เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จากบางซื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าเรือบางโพ แล้วเลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์มุ่งหน้าแยกท่าพระ
----------
16. สะพานกรุงธน (2500) - เป็นส่วนหนึ่งของถนนราชวิถี เชื่อมต่อเมืองเก่าย่านสามเสน-ดุสิต กับย่านยางพลัดฝั่งธน ตัวสะพานเป็นโครงสร้างเหล็กคล้ายกับสะพานนนทบุรี (เปิดไม่ได้) มีชื่อเล่นว่า "สะพานซังฮี้"
17. สะพานพระราม 8 (2545) - เป็นสะพานรถยนต์เพียงแห่งเดียวที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเพื่อระบายการจราจรจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและสะพานกรุงธน เชื่อมต่อถนนอรุณอัมรินทร์กับถนนวิสุทธิกษัตริย์
18. สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (2516) - เชื่อมย่านพระนครฝั่งเหนือ โซนพระบรมมหาราชวัง และถนนราชดำเนิน ข้ามไปยังฝั่งธนบุรีในย่านบางกอกน้อย-บางพลัด
19. สะพานพระพุทธยอดฟ้า (2475) - เชื่อมย่านพระนครฝั่งใต้ โซนสำเพ็ง พาหุรัด จักรวรรดิ ข้ามไปยังฝั่งธนบุรีมุ่งสู่ "วงเวียนใหญ่" โครงสร้างสะพานเห็นสะพานเหล็ก เดิมสามารถเปิดกลางสะพานให้เรือผ่านได้ ปัจจุบันไม่สามารถเปิดได้แล้ว มีชื่อเล่นว่า “สะพานพุทธ”
20. สะพานพระปกเกล้า (2527) - สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนสะพานพระพุทธยอดฟ้า ใต้สะพานจะเป็นแนวอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง
----------
21. สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (2563) - ใช้โครงสร้าง "สะพานด้วน" ที่อยู่กึ่งกลางสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเคยออกแบบมาใช้กับ "รถไฟฟ้าลาวาลิน" ที่ยกเลิกโครงการและปล่อยทิ้งร้างไป มาทำเป็นสะพานคนเดินและสวนสาธารณะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
22. สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (2525) - เชื่อมต่อถนนกรุงธนบุรีกับย่านธุรกิจบนถนนสาทร มักถูกเรียกชื่อย่อๆ ว่า "สะพานตากสิน" หรือบ้างก็เรียกว่า "สะพานสาทร"
23. สะพานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (2552) - สะพานที่อยู่กึ่งกลางสะพานตากสิน สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสมายังฝั่งธนบุรี
24. สะพานพระราม 3 (2543) - สร้างขึ้นเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนสะพานกรุงเทพ โดยเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อถนนรัชดาภิเษกกับถนนพระราม 3
25. สะพานกรุงเทพ (2502) - เชื่อมต่อถนนมไหสวรรย์กับถนนพระราม 3 เป็นสะพานเหล็กแบบเปิดปิดได้แห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังมีการใช้งานอยู่ หน้าตาคล้ายสะพานพระพุทธยอดฟ้า แต่ทาสีเทาอ่อน
----------
26. สะพานพระราม 9 (2530) - เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงท่าเรือ-ดาวคะนอง โดยเป็นสะพานขึงแบบระนาบเดี่ยวที่มีช่วงกลางสะพานยาวถึง 450 เมตร
27. สะพานทศมราชัน [🆕ใหม่ล่าสุด] (2567) - เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก โดยจะตั้งอยู่คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 เดิม แต่สร้างเป็นสะพานขึงแบบระนาบคู่ มีช่วงกลางสะพานยาว 450 เมตรเท่ากับสะพานเดิม
28. สะพานภูมิพล 1 (2549) - เป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมต่อย่านพระราม 3 เข้ากับย่านสุขสวัสดิ์-พระประแดง และปู่เจ้าสมิงพราย โดยจะเป็นทางยกระดับ 3 แยก สะพานภูมิพล 1 จะอยู่ฝั่งทิศเหนือ เชื่อมต่อฝั่งพระราม 3
29. สะพานภูมิพล 2 (2549) - เป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมต่อย่านพระราม 3 เข้ากับย่านสุขสวัสดิ์-พระประแดง และปู่เจ้าสมิงพราย สะพานภูมิพล 2 จะอยู่ฝั่งทิศใต้ เชื่อมต่อฝั่งปู่เจ้าสมิงพราย และทางด่วนกาญจนาภิเษก
30. สะพานกาญจนาภิเษก (2550) - เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายกาญจนาภิเษก และถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านใต้
----------
ทั้งหมดนี้เป็นสะพานที่สร้างเสร็จแล้ว นอกจาก 30 สะพานนี้ ยังมีอีก 1 สะพานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง นั่นคือ "สะพานเกียกกาย" (ชื่อยังไม่เป็นทางการ) ซึ่งจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณรัฐสภา เชื่อมต่อถนนทหาร (ฝั่งพระนคร) กับถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ซึ่งสะพานนี้จะเป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครครับ 😄
Cr.LivingPop