ตรวจภายใน

ตรวจภายใน คืออะไร

การตรวจภายใน คือการตรวจเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์และอวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง เท่านั้น จุดตรวจหลัก คือ อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด มดลูก และรังไข่

เมื่อมาถึงห้องตรวจ ผู้รับการตรวจต้องปัสสาวะก่อน (ยกเว้นคนที่คุณหมอจะตรวจเกี่ยวกับการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งต้องมีปัสสาวะอยู่เต็ม) จากนั้นขึ้นบนเตียงตรวจที่มีขาหยั่ง ให้อยู่ในท่าสำหรับเตรียมตรวจ คุณหมอก็จะดูลักษณะอวัยวะเพศภายนอก รูปร่างของคลิตอริสและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ท่อปัสสาวะ รูก้น ดูการกระจายของขน ดูก้อน รอยแผล ตุ่ม คลำดูต่อมน้ำหล่อลื่น หลังจากนั้นจะสอดเครื่องมือ เรียกว่า speculum เข้าในช่องคลอด เพื่อดูบริเวณปากมดลูก และช่องคลอด

การตรวจภายใน 2 ขั้นตอน

1. การตรวจมะเร็งปากมดลูก เมื่อใส่ speculum เข้าไปแล้ว ก็จะเริ่มจากดูปากมดลูกว่ามีรอยแผล มีก้อน มีสีผิดปกติหรือไม่ หลังจากนั้นใช้ไม้ เรียกว่า spatula (อาจเป็นไม้จริง พลาสติก หรือแปรง) ป้ายบริเวณปากมดลูก แล้วป้ายบนสไลด์แก้วหรือขวดที่มีน้ำ เพื่อเก็บเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่ามีเซลล์ผิดปกติที่เข้าได้กับระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือระยะที่เป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ โดยรอผลประมาณ 2-4 สัปดาห์

2. การตรวจภายใน หลังจากตรวจมะเร็งปากมดลูกเสร็จ คุณหมอจะใส่นิ้วมือเข้าไปในช่องคลอด มือข้างหนึ่งจะอยู่ในช่องคลอด ส่วนอีกข้างหนึ่งจะคลำบริเวณท้องน้อย เรียกว่า bimanual palpation (เหมือนในรูป) เพื่อคลำมดลูกและรังไข่ วิธีนี้คุณหมอจะสามารถสัมผัส และคลำมดลูกและรังไข่ได้อย่างชัดเจน ในคนผอม หน้าท้องบาง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้ด้วย เพราะถ้าเกร็งหน้าท้องมาก แม้หน้าท้องจะบางก็คลำยาก แต่จะมีข้อจำกัดในคนอ้วนหรือลงพุง โดยถ้าอ้วนมากๆ คุณหมออาจตรวจหาความผิดปกติได้ลำบาก เพราะคลำไปไม่ถึง เนื่องจากติดชั้นไขมัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจภายใน คือ หลังจากประจำเดือนหมดสนิท 1-2 สัปดาห์ สิ่งที่ต้องเตรียม ได้แก่

  1. ประวัติเกี่ยวกับอาการผิดปกติ เช่น ตกขาว สี กลิ่น ปริมาณ อาการปวดท้อง คลำได้ก้อนที่ไหนหรือไม่ เพื่อให้คุณหมอวิเคราะห์สาเหตุของอาการผิดปกติได้ตรงจุด

  2. ประวัติเกี่ยวกับประจำเดือน ได้แก่ วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ระยะเวลาของการมีประจำเดือนแต่ละครั้ง ระยะห่างของประจำเดือนจากวันแรกของรอบก่อนหน้าจนถึงวันแรกของรอบถัดไป อาการปวดประจำเดือน ชนิดและปริมาณของยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือน เพื่อให้คุณหมอประเมินว่าประจำเดือนปกติหรือไม่ ถ้าไม่ปกติ อาจต้องตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการตรวจภายใน

  3. ประวัติเกี่ยวกับการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เช่น ถ้าเคยผ่าตัดมดลูก รังไข่ยังอยู่หรือเปล่า หรือผ่าตัดรังไข่ข้างไหนไป ซึ่งสำคัญมาก เพราะหากผ่าตัดมดลูกและรังไข่ไปแล้ว หมอตรวจพบก้อนจากการตรวจภายใน จะได้ไม่สงสัยว่าเป็นมดลูกหรือรังไข่อีก คุณหมอจะได้หาสาเหตุของก้อนในระบบอื่นๆ ต่อไป คุณจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่จำเป็น

  4. ประวัติเกี่ยวกับการคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และครั้งล่าสุด การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ เช่น เอดส์, เริม, หนองใน เป็นต้น

  5. ผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากถ้าเคยมีผลผิดปกติ การดูแลจะแตกต่างกัน

  6. ประวัติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

  7. ประวัติเกี่ยวกับมะเร็งทางนรีเวชในครอบครัว โดยเฉพาะมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

  8. ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาด หรือสวนล้างช่องคลอดเป็นพิเศษก่อนมารับการตรวจ ให้ดูแลร่างกาย ทำความสะอาดตามปกติ และทำตัวตามสบาย

ใครควรตรวจภายใน และควรตรวจบ่อยเพียงใด

ผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจภายใน บางสถาบันในต่างประเทศแนะนำว่าควรตรวจภายในหลังจากอายุ 21 ปี หรือ 3 ปี หลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ และควรตรวจทุก 1-3 ปี (ขึ้นกับผลการตรวจของปีก่อนๆ ด้วย)

สำหรับประเทศไทย นโยบายเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะเริ่มที่อายุ 35 ปี และตรวจทุก 5 ปี เพราะเรามีข้อจำกัดเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และปัญหาในการเข้าถึงบริการของสาธารณสุขของประชากรทั่วไป (ในชนบทหรือต่างจังหวัดก็อาจจะลำบากที่จะตรวจทุกปี)

หลายคนอาจไม่อยากตรวจ เพราะกลัวเจอโรค หมอคิดว่าควรเปลี่ยนความคิด เพราะถ้าตรวจแล้วเจอโรคในระยะต้น จะมีโอกาสรักษาได้ ดีกว่ารอให้มีอาการโรคก็เป็นมากแล้ว และอาจรักษาไม่ได้

ในกรณีผู้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจหรือไม่

เนื่องจากความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกชนิดที่เป็นเซลล์ที่พบบ่อยๆ (squamous cell carcinoma) จะลดลงในคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่วนมะเร็งรังไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดที่พบบ่อย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี และการตรวจต้องใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งช่องคลอดของคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะค่อนข้างคับแน่น บวกกับความกลัวแล้วเกร็งช่องคลอด อาจจะทำให้ตรวจยาก และอาจจะมีการฉีกขาดเยื่อบุปากช่องคลอดได้ (แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคนนะคะ เพราะส่วนมากถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์คุณหมอมักจะเลือกขนาดเครื่องมือที่เล็กที่สุด และพยายามตรวจอย่างนุ่มนวล ถ้าคนไข้ให้ความร่วมมือดี ไม่เกร็งช่องคลอด การตรวจก็จะง่ายขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บใดๆ)

ดังนั้น ในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และอายุน้อย อาจได้รับประโยชน์จากการตรวจน้อย สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนผิดปกติ หรือมีก้อน ส่วนมากหมอจะหลีกเลี่ยงการตรวจภายใน ในคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และอายุน้อย อาจตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจภายในในห้องผ่าตัด ภายใต้การดมยาสลบ ขึ้นอยู่กับโรคและอาการ

ในกรณีไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรจะเริ่มตรวจภายในเมื่อไหร่

อันนี้ไม่มีอายุที่แนะนำชัดเจน แต่เนื่องจากอุบัติการณ์ของมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณช่วงอายุระหว่าง 35-40 ปี น่าจะเหมาะสมที่สุด (ความเห็นส่วนตัวคุณหมอเมษ์)

การส่องกล้องปากมดลูก คืออะไร

การส่องกล้องปากมดลูก (Colposcopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งนรีเวช หรือสูตินรีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการส่องกล้องปากมดลูกแล้ว

การส่องกล้องปากมดลูก ไม่ได้เป็นการตรวจในคนทั่วไป จะตรวจเฉพาะในคนที่ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้นด้วย Pap smear ผิดปกติ หรือตรวจพบความผิดปกติบางอย่างที่สงสัยมะเร็งจากการตรวจภายในโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งการตรวจส่องกล้องปากมดลูก ก็จะต้องขึ้นขาหยั่งเหมือนการตรวจภายใน และใส่เครื่องมือที่เรียกว่า speculum เหมือนการตรวจภายในทุกอย่าง ต่างกันที่คุณหมอจะไม่ได้มองด้วยตาเปล่า แต่มองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายประมาณ 40 เท่า ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (เหมือนรูปประกอบ) และอาจจะป้ายบริเวณปากมดลูกด้วยกรดน้ำส้ม หรือ ไอโอดีนเพื่อหาตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนสีที่ผิดปกติ เมื่ตรวจพบความผิดปกติจากการส่องกล้องก็ต้องแบ่งเกรดของความผิดปกติตามระดับความรุนแรง และอาจจะพิจารณาตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติไปตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าบริเวณที่ผิดปกติมีขนาดเล็กมาก และสามารถตัดออกไปได้หมด ก็จะกลายเป็นการรักษาไปด้วยในตัว

ทั้งนี้ในคนที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปกติ หรือตรวจภายในแล้วปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจส่องกล้องปากมดลูกแต่อย่างใด เพียงแต่ควรตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีก้อนผิดปกติที่ปากมดลูก ที่เห็นได้ชัดเจนด้วยตามเปล่านั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่องกล้องเช่นกัน แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อที่เห็นด้วยตาเปล่านั้น เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้เลย โดยไม่ต้องไปเสียเวลาส่องกล้อง

โดยสรุปคือ คนที่จำเป็นจะต้องตรวจส่องกล้องปากมดลุกเพิ่มเติม ได้แก่ คนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย Pap smear แล้วพบว่าผลผิดปกติ นั่นเอง