สอนให้น้อยลง เรียนให้มากขึ้น (Teach Less, Learn More: TLLM)
แนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่มุ่งให้ครูมีบทบาทในการสอนให้ผู้เรียนมีความคิด มากกว่ามีความรู้จากการท่องจำ
ที่มาของแนวคิด Teach Less, Learn More
ภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบการศึกษา Thinking Schools, Learning Nation (TSLN) ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Thinking Schools เป็นวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้โรงเรียนทุกโรงเรียนจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเป็นนักคิด
Learning Nation เป็นวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม และความสามารถในการสร้างสรรค์ เพิ่มมากขึ้น ให้สามมารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
นอกจากนี้ Teach Less, Learn More (TLLM) ยังมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตของผู้เรียน ซึ่งต้องการเปลี่ยนการจัดการศึกษาในเชิงปริมาณ ไปสู่การจัดการศึกษาในเชิงคุณภาพ
เพิ่มการจัดการศึกษาในเชิงคุณภาพ คือ การเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดของตนเอง ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ลดการจัดการศึกษาในเชิงปริมาณ คือ การลดบทบาทของครู จากผู้สอนไปเป็นผู้ชี้นำ กระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ การลดการเรียนแบบท่องจำ การสอบ และการหาคำตอบ
คอนสตรัคติวิสต์ ทฤษฎีสนับสนุนแนวคิด Teach Less, Learn More
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สนับสนุนแนวคิด Teach Less, Learn More ได้แก่ ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียน เชื่อว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ ได้ด้วยตนเอง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างกระตือรือร้น กรอบแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ คือ
ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันของผู้เรียน รวมทั้งอาจแตกต่างกับแนวทางของผู้สอน
ประสบการณ์เดิมของผู้เรียนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความรู้ใหม่และผู้เรียนแต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์เดิมที่แตกต่างกัน
การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ตรง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้เรียน มีส่วนช่วยในการสร้างความรู้ใหม่
ครูมีบทบาทในการจัดบริบทการเรียนรู้ การตั้งคำถามที่ท้าทาย กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการสร้างความรู้ และให้ความช่วยเหลือผู้เรียนในทุกด้าน
บทบาทของผู้สอนตามแนวคิด Teach Less, Learn More
แนวคิด Teach Less, Learn More เสนอให้ผู้สอน สอนให้น้อยลง (Teach Less) แต่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น (Learn More) กล่าวคือ ผู้สอนต้องกระตุ้นให้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจะมีบทบาทการสอนน้อยลง แต่จะมีการวางแผนและออกแบบกิจกรรมเรียนการสอน การเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ และเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น โดยผู้สอนต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่
ทำไมต้องเรียนรู้ ?
เรียนรู้อะไร ?
เรียนรู้อย่างไร ?
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน เกิดความสนใจในการเรียนรู้ และมีกำลังในการเรียนรู้ ไม่ใช่เน้นเพียงเนื้อหา/ความรู้ที่สอนเท่านั้น
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน เข้าใจมโนทัศน์และแนวคิดที่สำคัญ มากกว่าการท่องจำได้
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน มีความพร้อมสำหรับการทดสอบของชีวิต มากกว่ามีชีวิตเพื่อการทดสอบ
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน เห็นภาพรวมของเนื้อหา และความเชื่อมโยงของเนื้อหา มากกว่าที่จะสอนเนื้อหาแยกกันเป็นเรื่องๆ
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน เห็นคุณค่า มีทัศนคติที่ดี และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มากกว่าที่จะนำความรู้ไปใช้ในการสอบเท่านั้น
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าเน้นที่ผลการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน คิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยการใช้คำถามกระตุ้น มากกว่าการให้ผู้เรียนปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น
ผู้สอนควรให้ผู้เรียน มีความกระตือรือร้น และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มากกว่าการที่ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำแบบฝึกหัดและท่องจำ
ผู้สอนควรสร้าง บรรยากาศ และจัดสถานการณ์ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มากกว่าการเรียนจากคำบอกของผู้สอน
ผู้สอนควรคำนึง ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน กำหนดวิธีการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน มากกว่าการใช้วิธีสอนแบบเดียวกันทั้งหมด
ผู้สอนควรใช้ วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และประเมินตามสภาพจริง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพและพัฒนาการของผู้เรียน มากกว่าการประเมินผู้เรียนจากการสอบเท่านั้น
การออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบย้อนกลับ (Backward Design)
การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Teach Less, Learn More สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลากหลายวิธี แต่ต้องเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Teach Less, Learn More ที่โรงเรียน Raffles Girls’ School ณ ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ พบว่าวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้ คือ การออกแบบย้อนกลับ (Backward Design) ซึ่งพัฒนาโดย Wiggins & McTighe ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ได้แก่
การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้
การกำหนดหลักฐาน และการประเมินผลการเรียนรู้
การวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้
การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ ประกอบด้วย การกำหนดคำถามสำคัญ การกำหนดความเข้าใจที่คงทน (enduring understanding) จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา/ความรู้ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ และทักษะที่ต้องการพัฒนา เมื่อเสร็จสิ้นการสอนแล้วผู้เรียนต้องเกิดความเข้าใจที่คงทน (enduring understanding) ซึ่งเป็นความสามารถอย่างลึกซึ้งในการอธิบาย ประยุกต์ใช้ความรู้และเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์ต่างๆ โดยการกำหนดความเข้าใจที่คงทน (enduring understanding) มีหลักเกณฑ์ในการกำหนด ดังนี้
ความเข้าใจที่คงทนของเรื่องที่กำลังสอนควรสามารถถ่ายโอนไปสู่เรื่องอื่นๆ และชีวิตจริง เพื่อเห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาและความสำคัญของเนื้อหาที่มีต่อชีวิตจริง
ความเข้าใจที่คงทนต้องผ่านกระบวนการสืบสวน อภิปราย ตั้งคำถาม และประเมินผล ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ในทันที
ความเข้าใจที่คงทนเกิดมาจากการเชื่อมโยงมโนทัศน์ หลักการ กฎ หรือทฤษฎีกับทักษะ/กระบวนการ
ความเข้าใจที่คงทนควรนำไปสู่บทสรุปของเรื่องโดยผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดหลักฐาน และการประเมินผลการเรียนรู้
การกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้ หลักฐานการเรียนของผู้เรียน ได้แก่ ชิ้นงานหรือภาระงาน ซึ่งจะเป็นร่องรอยของการเรียนรู้ที่ผ่านการปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมของผู้เรียน ทำให้ผู้สอนทราบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ หรือไม่ตัวอย่างของชิ้นงาน เช่น รายงาน เรียงความ แผนภาพ หุ่นจำลอง แฟ้มสะสมผลงาน โครงงาน เป็นต้น ตัวอย่างของภาระงาน เช่น การสอบ การพูดปากเปล่า การแสดงบทบาทสมมติ การตอบคำถาม การอธิบาย การกล่าวรายงาน การอภิปราย เป็นต้นการประเมินผลการเรียนรู้ เป็นกระบวนการในการการตรวจสอบ ค้นหา หรือรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนแล้วนำ ผลที่ได้มาสรุป และตัดสินว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ การประเมินผลการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน และไม่สามารถแยกออกจากกระบวนการเรียนการสอนได้ ซึ่งการประเมินผลที่สอดคล้องกับแนวคิด TL, LM คือการประเมินตามสภาพจริง เนื่องจากเป็นการประเมินผลที่สามารถประเมินได้ทั้งกระบวนการ และผลที่ได้จากการเรียนรู้ประเด็นที่ผู้สอนควรคำนึงถึงในการพิจารณา กำหนด และประเมินหลักฐานการเรียนรู้ของผู้เรียน ได้แก่
ความเข้าใจที่คงทน/ผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนคืออะไร
จะใช้เครื่องมือใดในการประเมินความเข้าใจที่คงทน/ผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน
ผู้สอนจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วหรือยัง
หลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้คืออะไรและเพียงพอที่จะสรุปว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่
การประเมินผลการเรียนรู้ควรประเมินตามผลการเรียนรู้ที่ตั้งไว้
ขั้นตอนที่ 3 การวางแผนจัดประสบการณ์การเรียนรู้
การวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดขั้นสูง ซึ่งต้องสอดคล้องกับขั้นตอนที่ 1 และ 2 โดยประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน ได้แก่
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ควรอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ และแหล่งเรียนรู้ควรอยู่ในชีวิตจริง
เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน รวมทั้งได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักคิด และนักแก้ปัญหา
ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ได้สืบสอบหาความรู้ ลงมือปฏิบัติและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ผู้สอนมีบทบาทในการจัดบริบทการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตั้งคำถามที่ท้าทายความสามารถ และกระตุ้นสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการสร้างความรู้
บทสรุป
แนวคิดTeach Less, Learn More (TLLM) เป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ซึ่งต้องการให้ผู้สอนลดบทบาทในการสอนของตนเองให้น้อยลง และส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้ สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลากหลายวิธี แต่ต้องเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์นำมาใช้ คือ การออกแบบย้อนกลับ (Backward Design) ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ การกำหนดหลักฐานและการประเมินผลการเรียนรู้ และการวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
โดยในขั้นตอนการวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้นั้น สามารถประยุกต์ใช้แนวการจัดการเรียนรู้แบบการสอนแนะให้รู้คิด (Cognitively Guided Instruction : CGI) ซึ่งเป็นแนวการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ละการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ให้ความสำคัญกับการคิดของผู้เรียน โดยมีผู้สอนเป็นผู้สนับสนุน และเอื้ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำงานเป็นกลุ่ม มีโอกาสนำ เสนอความคิดของตนเอง ร่วมกันอภิปราย ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับชีวิตจริงซึ่งสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Teach Less, Learn More : TLLM