การเรียนรู้
ในศตวรรษที่ 21

(คศ. 2000-2099)

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

เมื่อเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในวงการการศึกษาเป็นอย่างมากในศตวรรษก่อนหน้า มีทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสอนใหม่ๆ เกิดขึ้น ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เช่น ทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ รวมไปถึงผลการวิจัยทางด้านสมอง (Brain research) ซึ่งให้มุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม จากการสอนที่เน้นให้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยอาศัยความสามารถและจิตวิทยาการสอนส่วนตัว มาเป็นการให้ครูนำความรู้ทางด้านจิตวิทยาของการเรียนรู้มาใช้ในการจัดเตรียมการสอนการสอน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี (Instruction) ดังนั้น การเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและกระทำด้วยตนเอง

การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ สไตล์ ศตวรรษที่ 21 สามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้มากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของไทย ได้มีพัฒนาตามยุคสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง การศึกษาสมัยปฏิรูปการศึกษา (2435-2475) สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักสูตรพุทธศักราช 2521-2524

หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) จนถึงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และได้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนไทย และถึงแม้ว่าจะมีการจัดอบรมครูเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายต่อหลายครั้ง ก็ยังไม่สามารถทำให้ครูเข้าใจถึงหลักสูตรแกนกลางอย่างถ่องแท้ ว่าควรจะพัฒนาผู้เรียนไปในทิศทางใดจึงจะเหมาะสม ถูกต้อง และให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามความต้องการได้

หากจะพูดถึงผู้เรียนในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนหลักสูตรบ่อยครั้ง และหลักสูตรไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและสภาพท้องถิ่น ส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดแรงจูงใจในการศึกษา ขาดต้นแบบที่ดี มีความมั่นใจในตนเองในทางที่ผิด มีค่านิยมและพฤติกรรมตามเพื่อนในกลุ่ม เห็นคุณค่าของวัตถุ ผู้มีทรัพย์สินและอำนาจมากกว่าความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เด็กและเยาวชนจึงมีค่านิยมรักความสะดวกสบายมากกว่าความพยายาม ขาดวินัยและไม่ชินกับการทำงานหนัก บริโภคข้อมูลข่าวสารและสื่อสารสนเทศอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา เช่น ขาดแบบแผนการดำเนินชีวิต ใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อโฆษณา บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและมีการเลียนแบบพฤติกรรมอย่างไม่เหมาะสม

เป็นหน้าที่ของครู ที่จะจัดการเรียนรู้แนวใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานทางการศึกษาเสียที คำว่า “โรงเรียนมาตรฐานสากล” เข้ามีมีบทบาทมาก เนื่องจาก ปี 2558 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน ซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ครูต้องเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามมาตรฐานสากล มีคำถามเกิดขึ้นว่า การจัดการเรียนรู้จะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป

แนวคิดในศตวรรษที่ 20 ที่กล่าวถึง ความหมายของการเรียนการสอน ได้แก่

  1. การเรียนการสอนต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียน

  2. การเรียนการสอนเป็นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติต่างๆ โดยมีการเตรียมการ วางแผนตามหลักวิชา มีขั้นตอนและกระบวนการสอนที่เป็นแบบแผนชัดเจน มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยให้ครู เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และทักษะต่าง ๆ

การนำทฤษฎี หลักการ และแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสอนจากอดีต มาสู่ศตวรรษที่ 21 แนวคิดเหล่านั้นยังมีอิทธิพลต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เพียงแต่ครูผู้สอนจะนำทฤษฎีการเรียนรู้เหล่านั้น มาสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างไร

รศ.ทิศนา แขมมณี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงศตวรรษที่ 20 และการประยุกต์สู่การสอนว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 เริ่มมีลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นลำดับ และสามารถจัดทฤษฎีการเรียนรู้ ได้ 4 กลุ่ม คือ

  1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)

  2. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม หรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitivism)

  3. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)

  4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสาน (Eclecticism)

คุณครูสามารถนำทฤษฎีเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้

หากกล่าวถึงศตวรรษที่ 21 ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถของครู เพราะเป็นยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรับรู้ข่าวสาร สามารถกระทำได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ครูจำเป็นต้องปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะชีวิต ทักษะการคิด และทักษะทางด้านไอที อย่างถูกต้องและเหมาะสม

การจัดการเรียนรู้แบบ “พลิกกลับ” (The Flipped Classroom) คือ วิธีการเรียนแนวใหม่ ที่พลิกจากการเรียนในตำราการเรียนการสอนแบบเดิม คือ เริ่มจากครูผู้สอน สอนในห้องเรียนแลัวให้นักเรียนกลับไปทำการบ้านส่ง เปลี่ยนเป็น ให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองผ่าน “เทคโนโลยี” ที่ครูจัดหาให้ก่อนเข้าชั้นเรียน และมาทำกิจกรรม โดยมีครูคอยแนะนำในชั้นเรียนแทน จะเน้นให้ผู้เรียนได้เห็นและปฏิบัติจากประสบการณ์จริง ทำให้มีการจดจำ เกิดทักษะการเรียนรู้ได้ดีกว่า

เกิดคำถามอีกว่า “การจัดการเรียนการสอนแบบพลิกกลับนั้น เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่” คำตอบคือ เป็นไปได้ หากเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ในการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ความร่วมมือจากครูผู้สอน ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเรียนรู้แบบพลิกกลับนั้น ต้องให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

  1. ทักษะพื้นฐาน (Core Skills) ได้แก่ สื่อสารสองภาษา การดำเนินงาน การแก้ปัญหา การใช้ ICT และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

  2. ทักษะการเรียนรู้และพัฒนาตน (Personal Learning & Development Skills) ได้แก่ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง ตระหนักรู้ในตนและรู้จักตนเอง มีทัศนะเชิงบวกต่อการเรียนรู้ จัดการหรือควบคุมตนเองได้ และคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

  3. ทักษะพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมโลก (Citizenship Skills) ได้แก่ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมชุมชนหรือสังคม เคารพความหลากหลาย มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดความเท่าเทียม ความยุติธรรมในสังคม ศึกษาหรือเห็นปัญหาในสังคม และลงมือทำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เข้าใจว่าสิทธิมาพร้อมความรับผิดชอบและปฏิบัติตามนั้น และมีขันติต่อความหลากหลายไม่เลือกปฏิบัติ

  4. ทักษะการทำงาน (Employability Skills) ได้แก่ วางแผนงานหรือกิจกรรมได้ มีทักษะการจัดการตนเองและผู้อื่น ตรงเวลา มีวินัย ทำงานด้วยตนเองได้ จัดลำดับความสำคัญของงานและทำงานได้ตามเวลา สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ตั้งใจเตรียมการล่วงหน้าและยืดหยุ่น และมีจริยธรรมในการทำงาน

ในศตวรรษที่ 20 ทักษะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน คือ ทักษะพื้นฐาน แต่เมื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้เรียนจะต้องมีทักษะด้านต่างๆ ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทักษะที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นทักษะที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดทักษะนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการจัดการเรียนรู้แนวใหม่สไตล์ศตวรรษที่ 21 นั้นโรงเรียนขนาดใหญ่ หลายโรงเรียนได้เพิ่มรายวิชาที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะได้ โดยใช้ชื่อวิชาว่า การค้นคว้าอิสระ หรือ Independent Study หรือเป็นที่รู้จักกันว่าวิชา IS ซึ่งเป็นหลักสูตรรายวิชาที่มีสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาสร้างขึ้นให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนวิชาตามความถนัด ตามความสนใจ ตามความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื้อหาที่ต้องจัดการเรียนรู้มี 3 ส่วน ได้แก่

  1. IS1 การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ในวิชานี้ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ ในการเลือกประเด็นปัญหา ตั้งสมมติฐาน ค้นคว้า การแสวงหาความรู้ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และฝึกทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองได้

  2. IS2 การสื่อสารและการนำเสนอ เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องจากวิชาแรกโดยผู้เรียนนำสิ่งที่ได้ศึกษา ค้นคว้าจาก IS1 มาเขียนรายงาน หรือเอกสารทางวิชาการ และนำเสนอเพื่อสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ที่ตนไปศึกษามา ให้ผู้อื่นเข้าใจได้

  3. IS3 การนำความรู้ไปใช้บริการสังคม เป็นการนำความรู้เพื่อนำไปให้บริการทางสังคม นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จากรายวิชา IS1 และ IS2 มาประยุกต์ใช้และทำประโยชน์ให้แก่สังคม

การจัดการเรียนรู้แนวใหม่นี้ มิได้ละทิ้งทฤษฎีการเรียนรู้แบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ที่เกิดจากการตอบสนองจากสิ่งเร้า การเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่องโยงระหว่างสิ่งเร้า ทฤษฎีของธอร์นไดค์ ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อม หากผู้เรียนไม่มีความพร้อม การเรียนรู้แนวใหม่ก็จะไม่เกิด หากผู้เรียนไม่มีแรงจูงใจ หรือ แรงขับ หรือเลือกที่จะเรียนในแบบที่ตนเองอยากเรียน ด้วยตนเองแล้วนั้น การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน

ทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ จากหนังสือ How Learning Works ที่ขึ้นต้นด้วยคำพูดของ Herbert A. Simon เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านเป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ด้วย ท่านบอกว่า “การเรียนรู้เป็นผลของการกระทำคือ การลงมือทำและการคิดของผู้ที่จะเรียนเท่านั้น ครูช่วยได้แต่เพียงช่วยทำให้เขาทำและก็คิดเพื่อที่จะเรียน ครูไม่สามารถทำให้เขาเรียนได้”

หนังสือ How Learning Works กล่าวสรุปถึงหลัก 7 ประการของการสอนที่ดี คือ

  1. ต้องเข้าใจความรู้เดิมของผู้เรียน ครูต้องหาวิธีการตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด

  2. การจัดระบบความรู้ที่เรียกว่า KnowledgeOrganization มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องมีการจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

  3. แรงจูงใจ ครูจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน

  4. การเรียนที่ถูกต้อง คือการเรียนจนรู้จริง

  5. การสอนโดยการปฏิบัติและมีการป้อนกลับ ครูที่ดีทั้งหลายจะรวมตัวร่วมกันออกแบบการเรียน ดูว่าต้องการให้เรียนรู้อะไร ออกแบบอย่างไร ให้เด็กทำอะไร และเพื่อให้ได้อะไร และวัดได้อย่างไรว่าจะได้ เพื่อจะให้เด็กลงมือปฏิบัติ แต่การปฏิบัติอย่างเดียวไม่เพียงพอ ครูต้องป้อนกลับข้อมูลให้แก่นักเรียน เรียนแล้วเกิดความสุข เกิดความมั่นใจในตัวเอง รู้ว่าตรงไหนตัวทำได้ดี รู้ว่าตรงไหนตัวจะต้องปรับปรุง ศิลปะการป้อนกลับนี้ (Feedback) สำคัญอย่างยิ่ง

  6. พัฒนาการของนักเรียนและบรรยากาศในห้องเรียน

  7. ผู้เรียนต้องสามารถกำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในกระบวนการครูจะต้องสามารถทำให้เกิดความสามารถหรือทักษะในการกำกับการเรียนรู้ให้กับตัวเอง ที่สำคัญคือ ให้รู้ว่าตัวเองมีวิธีการเรียนอย่างไร และปรับปรุงวิธีการเรียนของตัวเองได้

สรุป การจัดการเรียนรู้แนวใหม่สไตล์ศตวรรษที่ 21 มิได้ละทิ้งทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีอยู่เดิม แต่เพิ่มการเรียนรู้ที่สามารถศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ผ่านเทคโนโลยี เพื่อให้ทันยุคการเปลี่ยนแปลง เท่านั้น เพียงแต่ครูผู้สอนต้องเลือกจัดกระบวนการเรียนรู้ ใ้ห้ผู้เรียนเกิดทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 อย่างน้อยต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัด ตามความสนใจ สุดท้าย ผู้เรียนต้องนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงอยู่ของชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ปลอดภัย ต่อไป

คู่มือการสอนในศตวรรษที่ 21

การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity-based learning: CBL) เป็นหนึ่งในรูปแบบการสอนแนว active learning ให้ผู้เรียนได้ครบทั้งด้านเนื้อหาวิชา และทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอนรูปแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เราสามารถออกแบบการสอน ตามแนวทาง CBLได้ โดยจัดรูปแบบการสอนเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นความสนใจ

แม้ในรูปแบบการสอนแบบปกติ จะมีขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อนำผู้เรียนเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนของเราอยู่แล้วก็ตาม แต่ในการจัดการเรียนรู้แบบ CBL นั้น มีความจำเป็นมากที่เราจะต้องกระตุ้นความสนใจผู้เรียน การทำให้ผู้เรียนนั้นมีความอยาก อยากเรียน อยากรู้ อยากค้นหาคำตอบ ถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนแบบ CBL

ในการจัดการสอนแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นชิน มักจะใช้ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ หรือแม้กระทั่งการลงโทษเพื่อให้ผู้เรียนสนใจในเนื้อหาบทเรียน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผู้เรียนฟังครูสอน แบบจำเป็น และเข้าเรียนแบบจำทน ขาดความสนใจต่อบทเรียนที่เราเตรียมการมา แต่ในการจัดการเรียนการสอนแบบ CBL นั้นจะมีวิธีการจัดการกระตุ้นผู้เรียนที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าเดิม และสนใจในการค้นหาความรู้ด้วยตนเองได้

การกระตุ้นความสนใจ

1. ใช้เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน หรือสิ่งที่ผู้เรียนสนใจเป็นตัวกระตุ้น

ปกติแล้วผู้สอนมักจะมีเป้าประสงค์ในใจว่า เรียนเพื่อสอบ เราจึงสอนเพื่อให้ผู้เรียนไปสอบ จนลืมคิดไปว่า การเรียนคือการพัฒนาชีวิต เนื้อหาที่เรียนต้องนำไปใช้ในชีวิตของผู้เรียนได้ ถ้าเรียนไปแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง นั่นแสดงว่าเนื้อหานั้นไร้ค่า แต่ถ้าเนื้อหาที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เนื้อหาเหล่านั้นจะไม่ไร้ค่าอีกต่อไป

ผู้สอนจึงมีหน้าที่จัดการให้เนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียน เช่น “เงินหาง่ายถ้าใช้เป็น” “คนรวยใช้เงินอย่างไร” การใช้เรื่องการเก็บออม และการลงทุนเพื่อกระตุ้นความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์ แทนที่จะบอกให้จำสูตรอย่างเดียว การใช้เนื้อหาเรื่องพืชพันธุ์ที่ปลูกได้ในบ้านของตัวเองกระตุ้นความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ แทนที่จะสอนให้จำพืชที่ไกลตัว หรือการใช้บทสนทนาที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในการกระตุ้นความสนใจในวิชาภาษาอังกฤษ แทนที่จะสอนแค่ไวยากรณ์ เป็นต้น

1. ใช้สื่อมัลติมีเดีย

การใช้สื่อมัลติมีเดียถือเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งรูปภาพ เสียง ข้อความต่างๆที่นำมาใช้ ผู้สอนจำเป็นจะต้องเลือกสื่อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา โดยที่สื่อนั้นเป็นสื่อที่กระตุ้นความสนใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจในบทเรียนนั้นๆได้ดี จึงจะส่งผลต่อผู้เรียนได้มาก และส่งผลให้ผู้เรียนอยากหาคำตอบในเนื้อหาที่เราจะทำการเรียนการสอน

ครู อาจารย์ วันนี้สบายเพราะมีคนทั่วโลกทำสื่อต่างๆให้ใช้ฟรี โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ คุณครูสามารถนำมาใช้ได้เลย ในบทต่อไปจะนำรายละเอียดที่มาของสื่อเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

2. ใช้เกม หรือกิจกรรม

การใช้เกมหรือกิจกรรมนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีมากในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ซึ่งเกมหรือกิจกรรมที่เลือกมานั้นอาจจะเป็นสันทนาการง่ายๆทั่วไป จนไปถึงเกมหรือกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เราจะจัดการเรียนการสอน ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกใช้ได้หลากหลายให้เหมาะกับผู้เรียน

การกระตุ้นผู้เรียนนั้นผู้สอนจำเป็นที่จะต้องเลือกกิจกรรมให้สอดคล้องกับผู้เรียน เราต้องรู้ก่อนว่าเนื้อหาที่เราจะทำการจัดการเรียนการสอนนั้นจำเป็นกับชีวิตของผู้เรียนหรือไม่ แล้วเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับเนื้อหานั้น เพื่อเป็นการดึงความสนใจผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญในเนื้อหา ซึ่งจะทำให้ผู้สอนสามารถเลือกเนื้อหามาใช้ในกระบวนการกระตุ้นได้ง่ายขึ้น ผู้สอนนั้นสามารถใช้การกระตุ้นทั้งสามหัวข้อพร้อมกันได้ เช่น การใช้เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนมานำเสนอในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย เมื่อจบการนำเสนอสื่อแล้วจึงนำเกมหรือกิจกรรมมาเป็นการกระตุ้นอีกทีหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งปัญหาและแบ่งกลุ่มตามความสนใจ

ขั้นตอนต่อมาหลังจากการกระตุ้นความสนใจคือ การตั้งปัญหา และแบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจ กระบวนการนี้ทั้งหมดจะเป็นการใช้ปัญหาเป็นตัวนำ ขั้นการตั้งปัญหาในรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนแบบ CBL นั้นผู้สอนไม่ได้เป็นผู้กำหนดคำถามให้ตั้งแต่แรก แต่จะเป็นการปล่อยให้ผู้เรียนค้นหาปัญหาที่ตนเองสงสัย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นปัญหาที่ผู้เรียนสนใจในบทเรียน เมื่อผู้เรียนค้นพบปัญหาที่ตนเองสงสัยแล้วนั้นจึงทำการแบ่งกลุ่มตามความสนใจ จำนวนของกลุ่มนั้นจะตั้งขึ้นตามจำนวนปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และสมาชิกของแต่ละกลุ่มนั้นก็จะเกิดจากความพอใจของผู้เรียนเอง และดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตนเอง

กระบวนการ CBL นั้นจะได้ผลดีมากจากความสมัครใจ ความสนใจ และความร่วมมือกันของผู้เรียน กระบวนการนี้จะเห็นได้ว่าผู้เรียนนั้นไม่ได้ถูกบังคับให้รู้ แต่เกิดความ “อยากรู้” ด้วยตนเอง และเมื่อผู้เรียนเกิดความอยากรู้ นั่นจึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนั้นค้นหาเนื้อหาที่ตนเองต้องการ ซึ่งผู้เรียนนั้นพร้อมที่จะเปิดรับความรู้นั้นได้อย่างเต็มที่

ขั้นตอนที่ 3 ค้นคว้าและคิด

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดในการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ CBL ผู้สอนจะปล่อยให้ผู้เรียนนั้นได้ใช้เวลาในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ผู้สอนนั้นมีหน้าที่เดินให้คำปรึกษาตามกลุ่ม ให้คำปรึกษาเวลาที่ผู้เรียนมีปัญหา ผู้สอนจะต้องหักห้ามใจไม่ให้สอน แต่จะเปลี่ยนหน้าที่จากการสอนทั่วไปที่คอยบอกต่อเนื้อหาคำตอบและตัดสินความถูกต้องของคำตอบ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ชี้แนะ และตอบคำถามด้วยคำถาม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด โดยหลีกเลี่ยงการตัดสิน และการอธิบายเนื้อหาอย่างละเอียดอันจะเป็นการส่งผลให้ผู้เรียนหมดอิสระทางความคิด แต่จะใช้วิธีการง่ายๆเช่นการถามกลับ จะดีเหรอ แน่ใจเหรอ ทำไมถึงคิดแบบนั้น มันมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ หรือเพื่อนๆคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งสำหรับผู้สอนนั้นไม่ใช่ความรู้ในเนื้อหาข้อมูลนั้นๆ แต่เป็นแหล่งข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ผู้สอนนั้นจะสามารถนำไปแนะนำผู้เรียนได้ ผู้สอนในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ CBL นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่รู้ที่สุดในห้องเรียน เพราะว่าความรู้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและมีจำนวนมหาศาล แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการที่ผู้สอนนั้นจำเป็นต้องแนะนำให้ผู้เรียนหาความรู้ได้ถูกแหล่ง แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักเลือกข้อมูลความรู้ได้อย่างถูกต้อง และปล่อยให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้และค้นคว้าความรู้นั้นๆ

สิ่งที่ได้จากกระบวนการนี้ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่เป็นทักษะการคิดและค้นคว้าหาคำตอบที่จะเกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่ผู้สอนนั้นปล่อยให้ผู้เรียนได้ใช้เวลากับเนื้อหาที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่ ผู้สอนหลายท่านอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ถ้าหากผู้เรียนนั้นค้นหาคำตอบไม่ได้ หรือได้คำตอบที่ไม่ถูกต้องนั้นจะเกิดข้อเสียอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้สอนหลายท่านยกเลิกวิธีการนี้และหันกลับไปใช้รูปแบบสอนแบบเดิมเพื่อความสบายใจ แต่เนื่องจากกระบวนการเรียนการสอนแบบ CBL นั้นเรามองไกลมากกว่าคำตอบที่ถูกต้อง แต่คือการฝึกฝนให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด และรู้จักค้นคว้าหาข้อมูล รู้จักเลือกใช้และตัดสินใจในข้อมูลที่หาได้อย่างง่ายดายในยุคสมัยนี้ผ่านเครื่องมือต่างๆ ถ้าผู้สอนนั้นยังกังวลเกี่ยวกับคำตอบที่ผู้เรียนได้จะไม่ตรงกับความถูกต้องของเนื้อหา ผู้เขียนจะขอบอกว่าอย่าเพิ่งใจร้อนเพราะว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ CBL นั้นเราเพิ่งดำเนินการมาได้เพียงครึ่งทางเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 4 นำเสนอ

ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนั้นจะได้นำเสนอผลงาน ที่ตนเองที่ได้ไปค้นคว้าและคิดออกมา และผลงานที่นำเสนอนั้นอยากให้ผู้สอนพึงระลึกว่านี่คือผลงานแห่งความทุ่มเทของผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้เรียนออกมาทำการเสนอหน้าชั้น ผู้สอนนั้นจำเป็นจะต้องปล่อยให้ผู้เรียนนั้นนำเสนอจนจบ โดยที่ผู้สอนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องแทรกแซงระหว่างการนำเสนอ แสดงความคิดเห็น หรือซักถามใดใด ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการแสดงความคิดเห็น และซักถามนั้นคือผู้เรียนร่วมชั้น

เมื่อจบการนำเสนอผู้สอนจะเป็นผู้เปิดประเด็นให้มีการซักถามในชั้นเรียน และนี่คือกระบวนการที่จะทำให้ผู้เรียนนั้นตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ตนเองได้ค้นหามา ถ้าหากข้อมูลที่หามานั้นไม่ถูกต้อง การซักถามในห้องเรียนนั้นจะเกิดประเด็นใหม่ๆที่ผู้นำเสนอนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อตอบผู้ซักถามให้ถูกต้อง ซึ่งผู้นำเสนอก็จะพบว่าข้อมูลของตนไม่ถูกต้องหรือครอบคลุมพอ และต้องเพิ่มเติมตรงไหนบ้างจากการซักถามของผู้เรียนด้วยกัน โดยที่ผู้สอนจะทำหน้าที่คอยควบคุมคำถามและข้อคิดเห็นต่างๆให้อยู่ในประเด็น ไม่หลุดจากเนื้อหามากนัก ถ้าหากในผู้เรียนร่วมชั้นไม่มีข้อซักถามหรือข้อสงสัยใดใด ผู้สอนอาจจะเป็นผู้เริ่มถามเองก็ได้ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการซักถามในชั้นเรียน ซึ่งวิธีการนี้อาจจะต่อยอดไปสู่ความรู้ใหม่ๆที่ไกลกว่าเนื้อหาเดิมที่เคยสอนกันมา และเป็นเนื้อหาที่ผู้เรียนนั้นเต็มใจที่จะค้นหาด้วยตนเอง

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผล

ขั้นตอนนี้เป็นการประเมินผลกิจกรรมทั้งหมดที่ผู้เรียนได้ทำมาตลอดเวลาของการเรียนรู้ในรูปแบบ CBL ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในรูปแบบของการประเมินผลก่อน สิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ หรือหลักสูตรแกนกลางต้องการนั้น คือการที่ผู้เรียนมีการพัฒนาทั้งด้านของ

1. ความรู้ (Knowledge)

2. ทักษะ (Skill)

3. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Attitude)

ดังนั้น การประเมินผลนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านนี้ เพื่อให้ได้คุณภาพของผู้เรียนที่เป็นมาตรฐาน โดยปกตินั้นผู้สอนจะคุ้นเคยกับการประเมินด้านความรู้ นั่นก็คือการจัดสอบ หรือการหาคะแนนจากแบบทดสอบต่างๆที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนนั้นมีความรู้ แต่ในส่วนของการประเมินด้านทักษะ และการประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้นไม่มีความชัดเจนมากนัก จึงกลายเป็นว่าคะแนนที่เราเห็นกันจากการเรียนรู้ในรูปแบบปกตินั้นมักจะเป็นคะแนนของความรู้ทั้งสิ้น

ในรูปแบบการเรียนการสอนแบบ CBL ต้องประเมิน 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านความรู้

เราสามารถประเมินความรู้ได้ด้วยวิธีการที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด นั่นก็คือการจัดให้มีการสอบวัด หรือแบบฝึกหัดต่างๆ และนำคะแนนมาชี้วัดว่าผู้เรียนมีความรู้ในเนื้อหาด้านนี้เท่าไหร่

2. ด้านทักษะ

การประเมินด้านทักษะนั้นจะเป็นการประเมินความสามารถของผู้เรียน ซึ่งเราสามารถใช้รูปแบบการประเมินแบบรูบริค (Rubric) ในการประเมินผู้เรียนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งหัวข้อในการประเมิน และรายละเอียดการประเมินที่จำเป็น เช่น เราจะประเมินในหัวข้อทักษะการนำเสนอ รายละเอียดการประเมินที่จำเป็นคือด้านเนื้อหา ด้านความชัดเจนในการพูด และด้านเทคนิคในการนำเสนอ เป็นต้น

3. ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์

ในการประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้นสามารถใช้การประเมินแบบรูบริค (Rubric) ได้ ซึ่งก็จะมีส่วนคล้ายกับการประเมินด้านทักษะนั่นคือ การตั้งหัวข้อการประเมินในคุณลักษณะที่ผู้สอนอยากให้เกิดขึ้นในผู้เรียน และรายละเอียดสำหรับการประเมินที่สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ ผู้สอนจำเป็นต้องรู้ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ใดเกิดขึ้นในผู้เรียน เพื่อการตั้งหัวข้อการประเมินที่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนนี้ผู้สอนนั้นสามารถดูรายละเอียดได้ในหลักสูตรแกนกลางได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน โดยเฉพาะในด้านของทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เนื้อจากด้านความรู้เราสามารถประเมินได้อย่างชัดเจนจากแบบทดสอบต่างๆ แต่ด้านทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์นั้นจำเป็นจะต้องประเมินจากผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งจะเป็นการประเมินรอบด้าน ทั้งผู้เรียนที่ทำกิจกรรมด้วยกัน และผู้สอนที่คอยสังเกตการณ์อยู่ในชั้นเรียน เพื่อการประเมินที่มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นการโหวตให้คะแนนในด้านต่างๆ หรือแม้แต่การแจกแบบสอบถามให้กรอกในหัวข้อที่ต้องการ เป็นต้น

4Cs ทักษะในศตวรรษที่ 21

ไม่น่าเชื่อว่า ลีเซนดอล เซียนหมากล้อมของโลก จะพ่ายแพ้ระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์จนได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เราคาดว่าอีก 100 ปี มันจึงจะชนะสมองมนุษย์ได้ แต่ผ่านมาเพียง 20 ปีปัญญาประดิษฐ์ทำได้แล้ว

ปัจจุบันมีคนพูดถึง CEO Robot กันแล้ว ดูเหมือนตลก แต่ก็ไม่ใช่ฝันเกินความจริง ในธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ที่ต้องประมวลผลข้อมูลจำนวนมากๆ มันทำได้ดีกว่ามนุษย์ที่สมองและจิตใจมีข้อจำกัด

ในต่างประเทศเริ่มมีการเตรียมคน ตั้งแต่ระดับประถม เพื่อรองรับ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยทักษะ 4C ได้แก่

  1. ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (Critical thinker)

  2. ทักษะการเป็นนักสื่อสาร (Communicator)

  3. ทักษะการเป็นผู้ประสาน (Collaborator) และ

  4. มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creator)

ปัญหาวันนี้คือ คนอายุเกิน 40 ปี ต้องเตรียมทักษะความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเท่าทันโลก แต่คนที่ชอบนวัตกรรม ส่วนใหญ่จะมีทักษะครบ 4C กัน แต่มักขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นที่ต่างสาขากับตน (Collaborator) กล่าวคือ ชอบบินเดี่ยว ทำให้ไปได้ไม่ไกล