วันสุนทรภู่
ประวัติสุนทรภู่ ที่ไม่มีในหนังสือเรียน
ทุกวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่ ผู้ที่ยูเนสโกให้การรับรองยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม ไม่มีใครไม่รู้จักมหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ท่านนี้ แต่โพสต์นี้จะแสดงอีกมุม ที่เราอาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับยอดครูกวีท่านี้
สุนทรภู่เกิดที่วังหลัง ไม่ได้เกิดที่ระยอง
สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน) เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นานพ่อแม่ก็หย่ากัน พ่อของสุนทรภู่ได้ออกบวชที่วัดแถวบ้านเกิด และแม่ได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ สุนทรภู่จึงได้อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับแม่ และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง
แต่ที่มีความเข้าใจว่าสุนทรภู่เกิดที่เมืองแกลง น่าจะมาจากนิราศเมืองแกลง ที่ระบุว่าสุนทรภู่เดินทางไปเยี่ยมพ่อที่นั่น จึงถูกอนุมานว่าเป็นการกลับบ้านเกิด แท้จริงแล้ว สุนทรภู่ถูกให้ไปหาพ่อที่เมืองแกลงด้วยธุระราชการ ดังความตอนหนึ่งในนิราศเรื่องเดียวกันว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”
กวีเป็นความสามารถ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอาชีพ
สุนทรภู่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ และเป็นผู้ร่างเอกสารสำคัญของราชสำนัก
ดังนั้น อาชีพของสุนทรภู่ที่แท้จริง คือ การรับราชการในตำแหน่ง “อาลักษณ์” ส่วนงานกวีนิพนธ์เป็นความสามารถส่วนตัวไม่ใช่อาชีพ ซึ่งเห็นได้จากบันทึกที่กล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงแต่งกลอนบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ แล้วติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร และได้เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมาจนเป็น พระสุนทรโวหาร ถือว่าเป็นเพราะความสามารถเฉพาะตัวด้านการแต่งกลอนของสุนทรภู่ นั่นเอง
แบ็กแพ็กเกอร์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หากเทียบกับสมัยนี้ สุนทรภู่ก็คงคล้ายกับ Blogger ด้านการเดินทางท่องเที่ยว หรือ Influencer ในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะนิราศที่สุนทรภู่แต่งเกี่ยวกับการเดินทาง มีให้ได้อ่านถึง 9 เรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท และอื่น ๆ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก- www.matichon.co.th/news/189437- https://thestandard.co/news-thailand-sunthornphu-history.../