ประเทศไทย

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ ๙

ประวัติกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย

ประวัติกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย

ประวัติศาสตร์เมืองหลวง หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ "บางกอก" เมืองแห่งผลไม้ในอดีต สู่เมืองหลวงของไทย "กรุงเทพมหานคร" ในปัจจุบัน


หลายคนอาจสงสัยว่า ในสมัยก่อนเราเรียก กรุงเทพมหานครว่า "บางกอก" แต่ในปัจจุบัน เรียกกันว่า "กรุงเทพมหานคร" เหตุใดจึงเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็นกรุงเทพ


ปัจจุบัน กรุงเทพฯ ของเราขึ้นอันดับเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลกแล้ว มีประชากรจากการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ถึง 7,791,000 คน และยังมีคนที่อยู่อาศัยโดยไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร กับคนจากปริมณฑลที่เข้ามาทำงาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งเห็นได้อยู่ทั่วไปอีก แต่ละวันกรุงเทพมหานครจึงมีผู้คนขวักไขว่มาก เกินกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป


กรุงเทพฯ ยังสร้างเรื่องเหลือเชื่อไว้ด้วยว่า เป็น "เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก" หรือ World’s Best City Award และได้รับรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2553-2556 ถึง 4 ปีซ้อน จาก เทรเวล แอนด์ เลชเชอร์ (Travel + Leisure) นิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา


ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ยังเป็นเพียงหมู่บ้านที่เรียกกันว่า "บางกอก" มีชื่อเสียงทางด้านปลูกผลไม้ และมีหลักฐานจากวัดเก่าหลายวัด ว่าสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียอีก


ในแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่างๆ กัน เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock ส่วนคำว่า Bangkok เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมา


บางกอก เคยเป็นที่ตั้งของด่านภาษี ซึ่งพ่อค้าชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2160 - 2161 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า


"จากปากน้ำเข้าไป 5 ไมล์ (ประมาณ 8 กม.) เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า “บางกอก” ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า “ขนอนบางกอก” (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด..."


ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า


"สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ โดยทวนขึ้นไปสู่เมืองสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ถึง 4 ลี้ (ประมาณ 2 กิโลเมตร) กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหารซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา"


บาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน บันทึกไว้ว่า


"...และโดยที่บางกอกเป็นเมืองสวนของประเทศสยาม ซึ่งมีผลไม้รสเยี่ยมทั่วราชอาณาจักรมารวมกันอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เขาจึงนำมาให้เป็นของกำนัลแก่เราเข่งหนึ่ง..."


สมัยกรุงธนบุรี สวนผลไม้ของบางกอกได้ขยายไปถึงตำบลบางช้าง สมุทรสงคราม มีคำพูดกันว่า


"สวนในเรียกบางกอก สวนนอกเรียกบางช้าง" และยังแบ่งเป็น "บางบน" กับ "บางล่าง" โดยอยู่เหนือพระราชวังก็เรียก "บางบน" อยู่ใต้ลงไปเรียก "บางล่าง"


ผลไม้ของบางกอกฝั่งธนบุรี มีรสชาติขึ้นชื่อเป็นย่านๆ เช่น ทุเรียนบางบนมีรสมันมากกว่าหวาน ทุเรียนบางล่างมีรสหวานมากกว่ามัน มะปรางท่าอิฐ เงาะบางยี่ขัน ลิ้นจี่บางอ้อ ขนุนบางล่าง ลำไยบางน้ำชน กระท้อนคลองอ้อม ฝรั่งบางเสาธง เงาะ - ลางสาดคลองสาน ละมุดสีดาราษฎร์บูรณะ ส้มเขียวหวานบางมด สวนฝั่งตะวันออกแถวตรอกจันทร์ ถนนตก ก็ขึ้นชื่อเรื่องลิ้นจี่และลำไย


ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามา หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สังฆราชปาเลอกัว ซึ่งเข้ามาในปี 2373 ได้บรรยายภาพของกรุงเทพฯ ขณะย่างก้าวเข้ารับวัฒนธรรมตะวันตกไว้ว่า


"กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มตลอดปี จึงงามเหมือนภาพวาด กลุ่มเรือใบประดับธงจอดเป็นทิวแถวตามสองฝั่งแม่น้ำ ยอดแหลมหุ้มทองของมณฑปและโครงสร้างอันสวยงามของพระปรางค์ ที่มีการประดับอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสี ลอยสูงเด่นอยู่ในอากาศ ยอดเจดีย์หุ้มทองประดับกระเบื้องหลากสีสะท้อนแสงเหมือนสีรุ้ง เบื้องหน้าของท่านจะมองเห็นร้านค้าบนเรือนแพจำนวนนับพันเรียงเป็นสองแถวยาวตามริมฝั่งแม่น้ำ มีเรือสวยงามแล่นตัดข้ามฟากไปมา ตลอดความยาวของลำน้ำอันคดเคี้ยว ป้อมสีขาวคล้ายหิมะ ตัวเมืองซึ่งมีหอคอยแลประตูมากมาย ลำคลองที่ตัดผ่านไปรอบเมือง ยอดแหลมของปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง สามารถมองเห็นได้จากทั้งสี่ทิศ มีอาคารแบบจีน อินเดีย และยุโรป เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละชาติ เสียงดนตรี เสียงเพลงจากโรงละคร ความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติมองด้วยความชื่นชมและพิศวง..."


ในขณะนั้น กรุงเทพฯ ไม่มีรถยนต์เลยสักคันเดียว ใช้กันแต่การสัญจรทางน้ำ แม่น้ำและลำคลองเป็นเหมือนถนนอันจอแจ มีเพียงใจกลางเมืองและย่านตลาดเท่านั้นที่มีถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ๆ แต่ก็เป็นถนนสำหรับคนเดิน ส่วนถนนสำหรับรถสายแรกเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2400 เมื่อกงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นั้น เสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยว และไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะสะดวกขึ้นมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแยกจากจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง นำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า ‘คลองตรง’ และ ‘ถนนตรง’ แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘คลองหัวลำโพง’ และ ‘ถนนหัวลำโพง’ ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานนามใหม่ให้ถนนหัวลำโพง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ว่า ‘ถนนพระรามที่ 4’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้

เมื่อขุดคลองถนนตรงให้ตามคำขอแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทห้างร้านของชาวตะวันตกย้ายไปอยู่ที่ปากคลองพระโขนงตามที่อ้างเลย ต่อมาในปี พ.ศ. 2404 ชาวตะวันตกเหล่านั้นก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลอีกว่า

"ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนืองๆ ..."

ด้วยเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายใหม่ตามคำขออีก โดยเริ่มจากคลองรอบกรุงตรงสะพานดำรงสถิตที่สามยอดในปัจจุบัน ไปเชื่อมกับถนนตรงที่คลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง สายหนึ่ง แล้วตัดแยกจากถนนใหม่นี้ที่เหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตร) ตรงไปจนตกแม่น้ำที่บางคอแหลม อีกสายหนึ่ง จุดที่แยกออกเป็น 2 สายนี้ เรียกกันว่า "สามแยก" การสร้างถนนสายนี้นับเป็นสายแรกที่ใช้วิทยาการตะวันตก เรียกกันว่า "ถนนใหม่" ชาวตะวันตกเรียก "นิวโรด" ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า "ถนนเจริญกรุง"

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดถนนและสะพานขึ้นมากมายสำหรับรถยนต์ แต่ก็ยังไม่ทิ้งคลอง มีการขุดเชื่อมหัวเมืองใกล้เคียงขึ้นอีกหลายคลอง บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในรัชกาลนี้ ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในยามนั้น ได้แก่ ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นชุมชนของคนจีน มีท่าเรือที่ถนนทรงวาด ย่านบางรักเป็นชุมชนของชาวยุโรป เป็นที่ตั้งของสถานทูต และมีท่าเรือตลอดถนนตก ส่วนบางลำพูเป็นย่านการค้าของคนไทย มีสินค้าที่ข้ามมาจากฝั่งธนบุรีและจากหัวเมืองทางแม่น้ำ

กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งจำนวนประชากรและสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 ที่ฟองสบู่แตก มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เห็นแค่เครนยักษ์กำลังสร้างตึก ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวหลายทวีปต่างก็ตั้งเป้าหมายปลายทางมาที่กรุงเทพฯ จนเป็นเมืองอันดับ 2 รองแต่กรุงลอนดอนเท่านั้น ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนมากในรอบปี

กำเนิดคำ "สวัสดี"

สวัสดี เป็นคำทักทายเมื่อพบเจอกัน หรือลาจาก

คำว่า “สวัสดี” นั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้พิจารณามาจากศัพท์ “โสตถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสดิ” (สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทยมานาน โดยคำว่า “โสตถิ” หรือ “สวัสดิ์” นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า สวัสดิ์

พระยาอุปกิตศิลปสาร ท่านได้นำคำว่า “สวัสดี” นี้ มาทดลองใช้ในหมู่นิสิตจุฬาเป็นครั้งแรกเป็น ในขณะที่ท่านเป็นอาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ (หลังจากพระยาอุปกิตศิลปสาร เสียชีวิต 2 ปี (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2484))

สวัสดี มีความหมายว่า ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย

โสตถิ มีความหมายว่า ความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรื่อง

เห็นได้ว่า คำดังกล่าว เป็นความหมายที่ดี จึงมีความเหมาะสม ที่จะใช้กล่าวเมื่อแรกพบกัน หรือเมื่อลาจากกัน เพราะสวัสดี ไม่ได้เป็นเพียงแค่ คำทักทายเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมด้วยไมตรีจิต เป็นการอวยพรให้กับผู้ที่เราสนทนา ให้ประสบแต่สิ่งดี ๆ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษในคำทักทายของคนไทย

คำว่า “สวัสดี” ทำหน้าทีทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อกล่าวคำสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ มือทั้งสองประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมาย ถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสักการะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้น มาจากใจของผู้ไหว้

ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า สวัสดี พร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงเป็นนัยแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจอันงดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบในสิ่งดีงาม ถือเป็นมงคลทั้งต่อตัวผู้พูด และผู้ฟัง

ประวัติ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

พระยาอุปกิตศิลปสาร เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดบางประทุนนอก ธนบุรีและวัดประยูรวงศาวาส บวชเป็นสามเณรและพระภิกษุที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้เปรียญ 6 ประโยค และศึกษาวิชาครู เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ภาษาบาลี และวรรณคดีโบราณ เคยเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาสำคัญหลายแห่ง นามปากกาของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ที่รู้จักกันมาก เช่น อ.น.ก. อุนิกา อนึก คำชูชีพ ม.ห.น. เป็นต้น

เกียรติคุณพิเศษของพระยาอุปกิตศิลปสาร

  • เป็นคนแรกที่บัญญัติคำทักทายเมื่อแรกพบกันว่า “สวัสดี” ซึ่งแปลว่า สะดวก สบายดี เพราะแต่ก่อนนี้แรกพบกัน คนไทยไม่มีระเบียบในการใช้คำทักทาย

  • เป็นนักประพันธ์ไทยคนแรก ที่อุทิศโครงกระดูกให้แก่มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ศิริราช โดยกล่าวว่า “ฉันเป็นครูตายแล้วขอเป็นครูต่อไป”

  • เป็นคนแรกที่แต่งตำรา “สยามไวยากรณ์” หรือตำราไวยากรณ์ไทย ได้สำเร็จบริบูรณ์ คือมีทั้ง อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ โดยอาศัยเค้าโครงเก่าของกรมวิชาการ และไวยากรณ์อังกฤษเป็นหลัก

คลิปวิดีโอ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไทย
ขอบคุณเจ้าของคลิป | appreciate to clip owner

เสียงติ๊กต่อกเทียบเวลา 8 นาฬิกาในอดีต ที่สอดแทรกสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ เตือนสติชาวไทยทุกเช้า เสียดายชาวไทยไม่ได้ยินเสียงเนื้อร้องนี้มาหลายอายุคน
ดิสนีย์ทำการ์ตูนตลาดน้ำ ล้อที่มา "ข้าวผัดสับปะรด" ผ่านตัวการ์ตูนดัง มิคกี้-มินนี่ Youtube ช่อง Mickey Mouse ได้เผยแพร่การ์ตูน เรื่อง ความฝันลอยน้ำของเรา (Our Floating Dreams) เรื่องราวโรแมนติกระหว่าง มิคกี้ เมาส์ และ มินนี่ เมาส์ โดยใช้ "ตลาดน้ำ" สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของประเทศไทยเป็นฉากหลังเนื้อหาเป็นเรื่องระหว่างมิคกี้ เมาส์ พ่อค้าสับปะรด และมินนี่ เมาส์ แม่ค้าข้าวผัด ที่สู้รบแย่งที่จอดเรือหมายเลข 999 เพื่อขายสินค้าของตัวเอง มีตัวประกอบ เช่น กระรอกน้อยชิปแอนด์เดล ในที่สุดความขัดแย้งก็กลายเป็นเรื่องโรแมนติก และจบลงที่ "ข้าวผัดสับปะรด" อันเป็นอาหารขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ความเห็นชาวต่างชาติ ต่อประเทศไทย
  • ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ พ.ศ. 1096-2561
  • ภาพยนตร์ เรื่อง I am from Siam 1930
  • กำเนิดถนนทรงวาด
  • อนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ประเทศจีน
  • เอเชียในปี 553-2020
  • การแสดงหุ่นละครเล็ก
  • กรุงเทพมหานคร และรถราง พ.ศ. 2480 - 2563

  • สยามในอดีต วิถีชีวิต
  • สยามในอดีต วิถีชีวิต
  • สยามในอดีต
  • สยามในอดีต วิถีชีวิต
  • สยามในอดีต ถนน
  • สยามในอดีต การคมนาคม
  • สยามในอดีต วิถีริมคลอง 1:2
  • สยามในอดีต วิถีริมคลอง 2:2