นิพพานพุทธทาสภิกขุ
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ)
สวนโมกขพลาราม จ. สุราษฎร์ธานี
สวนโมกขพลาราม จ. สุราษฎร์ธานี
ท่านอาจารย์พุทธทาส : คนไข้ที่ผมได้รู้จัก
โดย น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
27 พ.ค. 2449 - 8 ก.ค. 2536
ธรรมชาติช่วยรักษา
หลังการอาพาธหนักในเดือนตุลาคม 2534 แล้ว ท่านอาจารย์ก็อาพาธหนักบางเบาบ้างอยู่อีกหลายครั้ง ทัศนะของท่านที่ว่า “ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด” “ไม่สบายทุกทีก็ฉลาดขึ้นทุกที” ทำให้ผมคิดว่า ท่านได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้สิ่งที่ท่านต้องการมากขึ้นเป็นลำดับจากการอาพาธในแต่ละครั้งด้วย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 สี่เดือนหลังการอาพาธหนักด้วยโรคหัวใจวาย ท่านอาจารย์อาพาธด้วยโรคภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน ทำให้เนื้อสมองบางส่วนขาดเลือด จากการสืบค้นทางการแพทย์ คาดว่าอาการนี้ เป็นผลจากการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่มีมาแต่เดิมของท่าน ทำให้มีลิ่มเลือดเล็กๆ หลุดจากหัวใจไปยังสมอง
ผมรับทราบข่าวนี้เมื่ออาจารย์ประดิษฐ์ (เจริญไทยทวี) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านโทรศัพท์มาถึงผม มีคำสั่งให้เดินทางลงไปสวนโมกข์ เนื่องจากท่านได้รับรายงานว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธหนัก และท่านอธิการบดีก็รับทราบอยู่ก่อนว่า ผมยังลงไปสวนโมกข์และติดตามดูแลอาหารของท่านอาจารย์อยู่ แม้จะอย่างไม่เป็นทางการ
ผมเดินทางไปสวนโมกข์ในวันที่ 1 มีนาคม 2535 ทราบว่า เมื่อบ่ายวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 น.พ.ทรงศักดิ์ ได้มาตรวจอาการแล้ว สันนิษฐานว่าลิ่มเลือดหลุดไปสู่สมอง
พระพรเทพ ฐิตปัญโญ พระอุปัฏฐากและเลขานุการส่วนตัวของท่านอาจารย์ได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ท่านสิงห์ทอง พระอุปัฏฐากซึ่งนอนเฝ้าท่านอาจารย์ได้มาเรียกท่านตอนกลางดึก บอกว่าให้ไปดูท่านอาจารย์ เนื่องจากท่านมีอาการแปลกๆ คืออยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมานั่งบนเตียง ฝีมือแล้วก็บอกว่า “เปิดซิ เปิดเสียง” แต่เมื่อพระเดินไปเปิดวิทยุแล้ว ท่านอาจารย์ก็ยังพูดต่อเช่นเดิมอีก พระอุปัฏฐากกราบเรียนถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบ และยังคงมีท่าทางเช่นเดิมอีก ซึ่งพระท่านจำได้ว่าเป็นกิริยาปกติของท่านอาจารย์ ในเวลาที่ท่านจะเริ่มการเทศน์ คือบอกให้พระที่คุมเครื่องเสียง เปิดไมโครโฟน
จากอาการและการที่สื่อสารกับท่านไม่ได้ ทำให้ทราบว่าท่านอาจารย์อาพาธ แต่ไม่ทราบกันว่าด้วยโรคอะไร จึงไปตามท่านอาจารย์โพธิ์ แล้วก็ไปตามอาจารย์ประยูร เมื่ออาจารย์ประยูรมาถึงก็ตรวจร่างกาย และวัดความดันโลหิตก็พบว่าปกติ ช่วงต่อมาท่านอาจารย์ลงไปนอนต่อได้เอง แล้วสักพักก็เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นการทำกิจวัตรประจำวันของท่านโดยทำอยู่ซ้ำ ๆ เช่นลุกขึ้นมานั่งโถ แล้วกลับไปนอน แล้วก็ลุกขึ้นทำใหม่อีก โดยที่ท่านไม่ได้ถ่ายจริงๆ เป็นอย่างนี้ทั้งคืน แล้วที่สุดท่านก็ลงไปนอนและหลับไปนาน
ตอนเช้า พ.ญ.เสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์ แพทย์อาวุโส ซึ่งเกษียณราชการแล้วมาอยู่สวนโมกข์ และเป็นผู้หนึ่งซึ่งคอยถวายการรักษาและถวายคำแนะนำเรื่องสุขภาพของท่านอาจารย์มานาน ได้ไปเยี่ยมอาการท่าน เมื่อกราบเรียนถามท่านว่า มีอาการปวดศีรษะไหม เวียนศีรษะหรือเปล่า ท่านก็ตอบว่า ไม่ โดยตลอด พ.ญ.เสริมทรัพย์จึงกราบเรียนว่าให้ท่านอาจารย์ลองนับนิ้ว ปรากฏว่าท่านนับไม่ได้ ได้แต่หัวเราะ หึ หึ จึงได้เริ่มเอะใจกันว่า ท่านอาพาธเกี่ยวกับสมอง จึงโทรศัพท์ตาม น.พ.ทรงศักดิ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการถวายการรักษาอะไรในช่วงนี้ ท่านอาจารย์ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้เป็นปกติ แต่จำอะไรและจำใครไม่ได้ หลังจากที่ท่านได้นอนพักประมาณ 4-8 ชั่วโมงแล้ว ท่านจึงเริ่มกลับเป็นปกติ เพียงแต่สูญเสียความทรงจำไปส่วนหนึ่งในช่วงนั้น
วันต่อมาอาจารย์ประเวศมาเยี่ยมอาการ และได้โทรติดต่อกับ ศ.น.พ.อดุลย์ วิริยเวชกุล หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยาของศิริราช เพื่อปรึกษาอาการ อาจารย์อดุลย์วินิจฉัยหลังจากฟังสรุปอาการต่าง ๆ แล้วว่าท่านอาจารย์เป็นโรคเลือดแข็งตัวและอุดหลอดเลือดในสมองเป็นหย่อม ๆ พร้อมกับสั่งยาเพื่อถวายการรักษา อาการของท่านอาจารย์เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ วันต่อมา เมื่อความจำของท่านกลับคืนมาแล้ว ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้น ท่านอาจารย์กำลังเขียนหนังสืออยู่ สันนิษฐานว่าคงเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดมาก เนื่องจากท่านบอกว่า งานนั้นเป็นงานเผยแพร่ธรรมะชิ้นสำคัญสุดท้าย ที่ท่านอยากจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นชีวิต
ท่านเล่าความรู้ลึกในช่วงที่เกิดอาการว่า ทันทีทันใดนั้นก็รู้ลึกวูบไปเฉย ๆ ไม่สามารถจำอะไรได้ รู้สึกเพียงแต่ว่ามันเงียบและน่ากลัวมาก มีความรู้สึกว่าร่างกายเบาเหมือนปุยเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า แต่ไม่เห็นอะไรชัดเจน ท่านอาจารย์มีความรู้สึกว่า อาการอาพาธครั้งนี้ เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับการอาพาธครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะว่า ท่านไม่สามารถจะใช้สติสัมปชัญญะของท่าน ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกับการอาพาธที่เกิดกับอวัยวะสำคัญส่วนอื่น ๆ
เมื่อผมเห็นว่าอาการของท่านฟื้นตัวได้เร็วและไม่มีอะไรที่เป็นอันตรายแล้ว วันที่ 3 มีนาคม 2535 ผมก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ และคิดว่าน่าจะติดต่อให้มีแพทย์เฉพาะทางในด้านประสาทวิทยาไปตรวจเยี่ยมอาการของท่าน พอดีผมได้พบกับ ศ.น.พ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาในการประชุม ก็เลยเรียนเรื่องต่าง ๆ ให้อาจารย์นิพนธ์ฟัง พร้อมกับชวนให้ท่านลงไปตรวจอาการท่านอาจารย์ แต่เนื่องจากตอนนั้นทางคณะฯ ยังไม่มีแผนการส่งแพทย์ไปถวายการรักษา เราจึงวางแผนกันว่า จะขออนุมัติท่านคณบดี (ศ.น.พ.อรุณ เผ่าลวัสดิ์) เพื่อที่จะเดินทางไปได้เลยในวันทำงาน โดยไม่ต้องเสียเวลารอจนถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ผมเดรียมที่จะเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์นิพนธ์ แด่เกิดมีภารกิจอื่นทำให้เดินทางไปด้วยไม่ได้ อาจารย์นิพนธ์จึงเดินทางคนเดียว โดยมี น.พ.ทรงศักดิ์ ช่วยประสานงานกับทางสวนโมกข์แทนผม หลังจากนั้นมา อาจารย์นิพนธ์ก็ลงไปตรวจเยี่ยมอาการท่านอาจารย์ทุกเดือนในวันอาทิตย์หรือเสาร์ โดยทำการตรวจและติดตามผลการฟื้นตัวของระบบประสาท โดยเฉพาะในเรื่องความจำ พร้อมกับปรับเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาตามความเหมาะสมด้วย
หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ความทรงจำของท่านกลับคืนมาได้มาก แม้จะไม่ทั้งหมด ท่านอาจารย์สามารถที่จะใช้ความคิดเพื่อเขียนหนังสือได้ครั้งละนาน ๆ มากขึ้น และสามารถแสดงธรรมแก่ผู้สนใจได้ตามสมควร ส่วนใหญ่ครั้งละไม่เกินครึ่งชั่วโมงแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามความพร้อมของร่างกายและสมอง ซึ่งหลายครั้งเราก็ต้องคอยทัดทานท่าน มิให้หักโหมเกินไป ท่านอาจารย์มักจะบ่นให้ผมและคนอื่นๆ ฟังว่า ท่านไม่ประมาณตนในเรื่องการทำงาน คือมักจะทำงานมากกว่าอายุและสุขภาพของตนเองเสมอ ท่านบอกอยู่หลายครั้งว่า เวลาพูดธรรมะแล้วมักจะหยุดไม่ค่อยได้ ท่านปรารภให้ฟังว่า งานที่ท่านอยากจะทำในช่วงเวลาที่เหลือนี้ คือ พินัยกรรมธรรมะที่รวบรวมจากการเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่าน ทำไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และศึกษาค้นคว้าต่อไป
หลังการอาพาธด้วยลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมองในครั้งนี้แล้ว ผมก็ยังลงสวนโมกข์เองเดือนละครั้งเช่นเดิมในวันสุดสัปดาห์ ไปถึงก็จะไปกราบท่านและตรวจร่างกายโดยทั่ว ๆ ไปพร้อมกับอ่านบันทึกสุขภาพซึ่งท่านพรเทพจดไว้ แล้วก็ขลุกอยู่บริเวณกุฏิของท่านตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้า 6 โมงไปจนถึงดึก จะกลับที่พักเมื่อตอนกินข้าวและตอนมานอน เท่านั้น บางครั้งก็คุยกับท่านอาจารย์บ้างในเรื่องสัพเพเหระ เช่น ข่าวสารบ้านเมือง ประวัติศาสตร์ เรื่องยุคเก่า ฯลฯ เพราะท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ในเรื่องต่างๆ มากมาย มิใช่เพียงเรื่องธรรมะเท่านั้น บางครั้งท่านก็จะปรารภธรรมะ หรือเล่าเรื่องงานและเรื่องที่ท่านอยากทำให้ฟัง เป็นการคุยกับผมคนเดียวบ้าง หรือกับคณะแพทย์ซึ่งเคยถวายการรักษาคราวอาพาธเมื่อปี 2534 บ้าง ผมจะคอยจำคำพูดของท่านที่น่าสนใจ หรือที่คิดว่าแปลกดีไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วจดบันทึกไว้ แต่บางครั้งก็มิได้สนทนาอะไรกับท่านเลย บางคราวท่านนั่งอยู่หน้ากุฏิ ส่วนผมก็นั่งอ่านหนังสือไปเงียบๆ เหมือนต่างคนต่างอยู่ คงจะเป็นเพราะผมมักจะมีความรู้สึกเกรงใจไม่อยากรบกวนท่าน โดยเฉพาะในเวลาที่ท่านอาจจะกำลังใช้ความคิดในเรื่องงานของท่านอยู่
ผมจะได้คุยกับท่านมากหน่อยก็ตอนช่วงที่ตามท่านเดินออกกำลังกายในตอนเช้า ท่านจะเล่าเรื่องสมุนไพร และบอกสรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้าที่พบให้ฟัง รวมไปกับเรื่องการดูแลรักษาตนเองของคนสมัยโบราณ ท่านรอบรู้เรื่องของสมุนไพรมาก และมักจะใช้สมุนไพรรักษาตนเองด้วยบ่อย ๆ เช่น ใช้ยางมะละกอรักษาตัวต่อต่อย หรือให้ท่านสิงห์ทองช่วยหาบอนเพื่อมารักษาหูด และว่านหางจระเข้รักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนหรือไฟลวก ฯลฯ นอกจากนี้ท่านยังเคยเล่าให้ฟังถึงวิธีการรักษาโรคตามแบบของท่าน นั่นคือ เวลาที่อาพาธ ท่านมักจะรักษาโดยการนอนอย่างเดียว ไม่กินและไม่ทำอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น ประมาณ 2-3 วันก็จะรู้ผล ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเอง ท่านอาจารย์จึงเชื่อในหลักของ “ธรรมชาติรักษา” ว่าเป็นหลักใหญ่แห่งสุขภาพและการบำบัด โดยที่แพทย์และวิทยาการทางการแพทย์ เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในบางครั้งบางคราวสำหรับท่าน เท่านั้น
สุขภาพที่ดีขึ้นของท่านอาจารย์ ทำให้ผมมีโอกาลได้รู้จักสวนโมกข์มากขึ้น มีเวลาเดินสำรวจเขาพุทธทอง สระนาฬิเกร์ โรงปั้น โรงหนัง ไปจนถึงลานลูกเสือ ฯลฯ รวมทั้งการวิ่งขึ้นเขานางเอตอนเช้า ๆ ด้วย เมื่อครบ 12 เดือนของการมาถวายการดูแลท่านอาจารย์ คือในเดือนตุลาคม 2535 สุขภาพโดยรวมของท่าน หากดูจากภายนอกจะใกล้เคียงกับช่วงเดิมก่อนที่จะอาพาธ คือค่อนข้างแข็งแรง แต่ตัวท่านเองยังปรารภว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน ท่านรู้ลึกเพลีย ไม่อยากอาหาร และไม่สามารถใช้ความคิดได้เต็มที่
ผมสังเกตจากการเฝ้าดูท่านมาอย่างต่อเนื่องว่า ท่านอาจารย์พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสุขภาพของท่าน แต่ก็ยังไม่พบจุดที่ลงตัวนัก จนเมื่อผ่านเขาสู่ปีใหม่ 2536 จึงดูเหมือนว่าท่านอาจารย์จะเริ่มเคยชินกับสภาพของสุขภาพใหม่มากขึ้น สามารถที่จะเดินออกกำลังในตอนเช้า เป็นระยะทางประมาณ 300 เมตรเกือบทุกวัน และสามารถนั่งสนทนากับผู้ที่มากราบนมัสการ และแสดงธรรมเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ แต่สุขภาพของท่านก็ดีอยู่ได้ไม่นานนัก ปลายเดือนมกราคมนั้น ท่านอาพาธค่อนข้างหนักอีกครั้ง ทำให้การฟื้นตัวที่ค่อยๆ ดีขึ้น ต้องหยุดชะงักลงไปอีกครั้งหนึ่ง
วันที่ 31 มกราคม 2536 ท่านมีอาการเลือดออกจากทางเดินอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยที่ท่านถ่ายเป็นโลหิต ซึ่งประมาณกันว่า รวมแล้ว 1,500 ซีซีใน 24 ชั่วโมง การสูญเสียโลหิตในปริมาณมาก มีผลให้ท่านซีด และที่สำคัญคือความดันโลหิตต่ำลง จนอาจทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว (ภาวะช็อค) ตามบันทึกของแพทย์นั้น ท่านอาจารย์เคยมีอาการทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว 2 ครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน ๆ คือ ท่านอาจารย์จะใช้วิธีการรักษาตามแบบของท่าน ซึ่งท่านเล่าให้พระอุปัฏฐากฟังว่า เป็นการห้ามเลือดแบบของพวกนักบวชอินเดียในสมัยพุทธกาล คือการเข้าสมาธิจนร่างกายสงบนิ่งและเลือดหยุดไหล คืนนั้นท่านนอนตะแคงข้าง หันหน้าเขาหาผนัง และนอนนิ่งนานในท่าดังกล่าวอยู่เป็นชั่วโมง ๆ
ในตอนเช้าอาการของท่านดีขึ้น ในตอนแรกนั้น น.พ.วิโรจน์ พานิช ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ และเป็นหลานชายของท่านอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ถวายการรักษา ได้เตรียมการที่จะให้เลือดทดแทน เนื่องจากในครั้งนี้ท่านอาจารย์เสียเลือดมากกว่าครั้งก่อน ๆ จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และมีผลเสียต่อการฟื้นตัวของโรคทางหัวใจและสมองที่ท่านเป็นอยู่ แต่ท่านอาจารย์ก็ปฏิเสธอย่างนุ่มนวล โดยไม่มีใครทราบเหตุผลที่ชัดเจนของท่าน
ก่อนปัจฉิมอาพาธ
หลังจากนั้นมา ระหว่างช่วงกุมภาพันธ์จนถึงก่อนปัจฉิมอาพาธ ผมและแพทย์หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะพระอุปัฏฐาก มักจะได้ยินท่านอาจารย์ปรารภเรื่องสังขารของท่านบ่อยครั้งในทำนองว่า ท่านรู้ลึกว่าสังขารไปไม่ไหวแล้ว ท่านอาจารย์จะบอกกับท่านพรเทพบ้าง อาจารย์ประยูรบ้างว่า ท่านคงจะไม่กลับมาดีได้เหมือนเดิมอีก นอกจากนี้ท่านยังพูดว่า ท่าทางท่านจะป่วยเป็นแบบเดิมอีก โดยพูดเรื่องนี้บ่อยมาก และเมื่อปลายปีก่อน (2535) ท่านอาจารย์ได้ปรารภในทำนองว่า ท่านหน่ายลังขารแล้ว และคิดว่าโดยสภาพคงจะอยู่ได้อีกเพียงปีเดียว หลังจากนั้นทุกคนมักจะได้ยินว่า ท่านอาจารย์พูดเรื่องพระนิพพานมากขึ้น บ่อยขึ้น ๆ กับทุกข์คนที่มาพบท่าน โดยเน้นเรื่องที่สุดแห่งทุกข์ การไม่มีอารมณ์ ผมเองนั้นทุกครั้งที่เข้าไปพบท่าน ท่านอาจารย์ก็จะพูดเรื่องจิตที่ไม่มีอารมณ์ (อนารัมมณัง จิตตัง) ให้ฟังเสมอ
แม้หลายคนจะเริ่มคิดถึงเรื่องการมรณภาพของท่านอาจารย์ แต่ก็ยังไม่มีใครที่จะคิดไปถึงว่า คำปรารภต่างๆ ของท่านจะเป็นจริงในเวลาอันรวดเร็วขนาดนี้ และไม่มีใครคาดด้วยว่า ท่านจะอาพาธหนักด้วยอาการทางสมองอีกครั้ง จึงไม่มีการกราบเรียนปรึกษาท่านไว้ล่วงหน้า ถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติในการถวายการรักษา ในกรณีที่ท่านอาพาธด้วยอาการทางสมองอีก สิ่งที่เราเห็นก็คือ การเตรียมตัวของท่านเองในเรื่องการมรณภาพ เช่น การทำพินัยกรรมเพื่อสั่งเสียเรื่องการจัดการศพ และการให้เริ่มสร้างที่เก็บศพของท่านในบริเวณด้านหลังของศาลาธรรมโฆษณ์ โดยเริ่มมาตั้งแต่มีนาคม 2536 เหมือนกับว่าท่านอาจารย์กำลังเตรียมตัวอะไรของท่าน ?
นอกจากนี้ ท่านสิงห์ทองยังเล่าว่า ตั้งแต่ต้นปี 2536 มานั้น ท่านอาจารย์ได้ยุติกิจวัตรอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านทำต่อเนื่องมาหลายสิบปี นั่นคือหยุดการติดตามข่าวสารบ้านเมืองดังเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุหรือทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นท่านจะต้องฟังข่าวตั้งแต่เช้ามืด และอ่านหนังลือพิมพ์นิตยสารข่าวต่าง ๆ จำนวนมาก หรือให้พระอ่านให้ฟัง แต่นับจากต้นปีมา ท่านจะยุติเรื่องทางโลกทั้งหมด แล้วให้ท่านสิงห์ทองอ่านแต่หนังสือธรรมะให้ท่านอาจารย์ฟังทุกวัน เซ่นอ่านหนังสือธรรมโฆษณ์เล่มใหญ่ที่ท่านชอบ อาทิ ไกวัลยธรรม สุญญตา และอื่นๆ อีกมาก
ในเดือนพฤษภาคม 2536 ซ่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านอาจารย์จะอาพาธในปลายเดือนนี้ ท่านอาจารย์สามารถอ่านหนังสือและใช้ความคิดในการเขียนบันทึกงานของท่านได้มากขึ้น แต่ปัญหาต้อกระจกที่ตาขวา ซึ่งท่านเป็นมานาน และรักษาโดยการหยอดยานั้น เริ่มมีปัญหามากขึ้น จนทำให้ท่านไม่สามารถทำงานตามที่ตั้งใจได้อย่างเต็มที่นัก ผมเดินทางลงสวนโมกข์พร้อมกับ ศ.น.พ.ปราโมทย์ ทุมวิภาต หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราช เพื่อถวายการตรวจอาการต้อกระจกโดยละเอียดอีกครั้ง หลังจากที่ น.พ.ปกรณ์ อภิชนาพงศ์ จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ได้มาถวายการตรวจไปแล้วครั้งหนึ่ง อาจารย์ปราโมทย์ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ภายหลังการตรวจว่า การรักษามี 2 แนวทาง คือ การผ่าตัดทันที และการหยอดยาต่อไปเช่นเดิม เพื่อรอเวลาผ่าตัดที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ท่านอาจารย์มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้สายตาเพียงใด ท่านอาจารย์ได้ซักถามโดยละเอียดเกี่ยวกับแนวการรักษาโดยการผ่าตัด ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และหากจะผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหรือเปล่า ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะสามารถใช้สายตาได้ สายตาจะกลับมาใกล้เคียงอย่างเดิมได้หรือไม่ ฯลฯ อาจารย์ปราโมทย์ได้กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ และเสนอแนะว่า ในกรณีผ่าตัด เพื่อความปลอดภัย หลังการผ่าตัดควรจะพักอยู่ในโรงพยาบาลอีกประมาณ 2 วัน และการผ่าตัดดังกล่าว สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ฯลฯ หลังจากท่านรับฟังข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็ยังไม่มีการตกลงนัดหมายอะไรเนื่องจากอาจารย์ปราโมทย์ จะต้องเรียนให้ท่านอธิการบดี คืออาจารย์ประดิษฐ์ ทราบก่อนตามขั้นตอน
บ่ายวันนั้น ผม น.พ.วิโรจน์ และพ.ญ.เสริมทรัพย์ ได้เข้าไปสนทนากับท่านอาจารย์ ท่านถามพวกเราว่า มีความเห็นอย่างไรเรื่องการผ่าตัดตา พวกเราก็กราบเรียนว่า ควรจะทำ เพราะจะช่วยให้ท่านอาจารย์ใช้สายตาได้ดีขึ้น นอกจากการพูดคุยเรื่องการผ่าตัดตาแล้ว ประเด็นหนึ่งซึ่งท่านกล่าวขึ้นมาด้วยในตอนนั้น ก็คือ ความตายของมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านได้พูดเป็นนัยว่า เมื่อเวลาที่ท่านจะต้องเผชิญกับความตายโดยใกล้ชิดนั้น จะมีใครหรือไม่ที่สามารถจะช่วยให้ท่านละวางจากไปโดยสงบได้ ?
อาทิตย์ต่อมาคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2536 อาจารย์ประดิษฐ์ ท่านอธิการบดีได้เดินทางมาสวนโมกข์ เพื่อถวายพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แด่ท่านอาจารย์ ได้มีการปรึกษาถึงเรื่องการผ่าตัดตาด้วย ท่านอาจารย์ได้ตกลงใจอยู่ก่อนแล้วที่จะรับการผ่าตัด เพราะเห็นว่าจะช่วยให้ท่านทำงานต่าง ๆ ได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนที่ท่านปรารภกับ พ.ญ.เสริมทรัพย์ ว่า “ตายไม่กลัว แต่กลัวตาบอด” แล้วอีก 2-3 วันต่อมา ท่านก็บอกเพิ่มว่า “ถ้าตาบอดจริงๆ ก็พูดเอาก็ได้”
ดังนั้น จึงได้มีการนัดหมายว่า อาจารย์ปราโมทย์ จะมาถวายการผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีในวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 2536 ผมได้เรียนกับท่านพรเทพไว้ว่า หากทราบวันผ่าตัดตาที่แน่นอนแล้ว ให้กรุณาแจ้งผมด้วย ไม่มีใครในเวลานั้นที่จะคาดเดาหรือคิดไปว่า อีกเพียง 2 วันต่อจากนั้น ท่านอาจารย์จะอาพาธหนักอีกครั้ง และอีกสี่สิบกว่าวันต่อจากวันอาพาธ ท่านอาจารย์ก็ละจากไปด้วยปัจฉิมอาพาธครั้งนี้ นั่นเอง
วาระวิกฤติ
วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2536 ผมทราบข่าวจากโทรทัศน์ช่อง 9 ว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก ตอนแรกผมยังไม่ค่อยเชื่อข่าวนี้นัก เนื่องจากไม่เห็นการเสนอข่าวของโทรทัศน์ช่องอื่นๆ และข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ แต่เมื่อเช็คข่าวจนแน่ใจแล้วว่าท่านอาจารย์อาพาธหนักมากจริง ผมก็โทรศัพท์เรียนหาท่านอธิการบดี เพื่อจะขออนุมัติเดินทางไปสวนโมกข์ เนื่องจากช่วงนั้นเป็นวันทำงาน ตอนที่โทรศัพท์ไปเรียนท่านนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ไม่อยู่ ผมจึงเรียนผ่านเลขานุการของท่านว่าผมขออนุมัติเดินทางไปสวนโมกข์ โดยมิได้แจ้งกำหนดวันกลับ ความรู้ลึกตอนนั้นคืออยากจะลงไปช่วยถวายการดูแลท่าน อาจารย์
ผมเตรียมที่จะเดินทางทันทีในวันรุ่งขึ้น คือ วันพุธที่ 26 พฤษภาคม แต่มาทราบก่อนว่า อาจารย์นิพนธ์ได้เดินทางลงไปสวนโมกข์แล้ว ผมจึงวางใจและชะลอการเดินทางไว้ก่อน จนกระทั่งทราบว่าอาจารย์นิพนธ์กลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน ผมจึงเตรียมเดินทางไปสวนโมกข์ เนื่องจากอยากจะให้มีแพทย์อยู่กับท่านอาจารย์ตลอดเวลา นอกจากนั้นเป็นเพราะอาจารย์นิพนธ์ได้โทรศัพท์หาผมด้วยในเช้าวันที่ 27 เล่าอาการของท่านอาจารย์ และบอกว่าการถวายการรักษาครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหายใจด้วย ผมจึงเดินทางในเย็นวันนั้น ก่อนขึ้นเครื่องบินก็ทราบข่าวว่า ได้มีการนำท่านอาจารย์จากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ กลับสวนโมกข์แล้ว โดยที่ผมยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่นอน
ผมถึงสวนโมกข์ประมาณ 3 ทุ่ม เช่นเดียวกับการมาถวายการรักษาคราวแรกเมื่อปี 2534 แต่ครั้งนี้มีผู้คนมากมายพลุกพล่าน ทั้งสื่อมวลชน ศิษยานุศิษย์ ฯลฯ ผมเข้าไปถวายการดูแลท่านในกุฏิทันที เนื่องจากขณะนั้นท่านอาจารย์ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ โดยใส่มาจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ตามหลักการแพทย์แล้ว คืนนั้นจะเป็นช่วงที่อาการของท่านหนักมากที่สุด เพราะเป็นวันที่ 3 ที่เส้นโลหิตแตก สมองจะบวมเต็มที่ โอกาสที่จะเกิดวิกฤตจึงมีสูงมาก คืนนั้นผมอยู่ในกุฏิตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วง ระหว่างนั้นจะต้องคอยตรวจอาการต่าง ๆ ของท่านเป็นระยะๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท การหายใจ การทำงานของหัวใจ ฯลฯ รวมไปถึงการดูดเสมหะเป็นช่วงๆ เพื่อให้การหายใจสะดวก
ช่วงระหว่างตี 2-5 ผมอยู่กับท่านอาจารย์โดยลำพังเพราะพระอุปัฏฐากและอีกหลาย ๆ คนอดนอนมาหลายคืน จึงกลับไปพักผ่อนเอาแรง อาศัยมีพยาบาลและบุรุษพยาบาลเวรคอยเข้ามาช่วยการปฏิบัติรักษาเป็นช่วงๆ ทำให้ผ่อนภาระไปได้บ้าง
ความรู้สึกของผมในช่วงขณะนั้นคือ “กลัวท่านจะตาย และรู้สึกว่าไม่อยากให้ท่านตาย” แต่คราวนี้เกิดจากความรู้สึกเป็นห่วงและผูกพันกับท่าน มิใช่เกิดจากความกลัวว่าท่านจะมรณภาพในขณะที่เราเป็นแพทย์ผู้รับผิดชอบ เหมือนความรู้สึกตอนที่มาถวายการรักษาครั้งแรกในปี 2534 แต่ถ้าไม่อาจฝืนสภาพแห่งสังขารได้ และท่านอาจารย์จะต้องจากไปจริงๆ แล้ว ผมก็อยากจะอยู่กับท่านด้วยในช่วงเวลาสุดท้ายนั้น ซึ่งจะเป็นเมื่อไร ก็ยังไม่มีใครตอบได้แน่ ?
ประมาณตี 5 ผมรู้สึกง่วงจนไม่ไหว จึงกลับที่พักไปนอนงีบหนึ่ง โดยมอบหมายให้บุรุษพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบดูแลชั่วคราว ผมตื่นขึ้นมาประมาณ 6 โมงเช้าเศษ กลับไปดูท่านอาจารย์อีกครั้ง อาการท่านยังไม่ดีขึ้น อาการของท่านมากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงสายวันนั้น (28 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่อาจารย์นิพนธ์เดินทางมาถึงสวนโมกข์อีกครั้ง หลังจากผมและอาจารย์นิพนธ์วางแผนการรักษาเฉพาะหน้ากันเรียบร้อยแล้ว ในตอนบ่ายได้มีการประชุมตกลงกันว่า จะนำท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ผมไม่ได้เข้าประชุมด้วยเพราะอยู่เฝ้าอาการของท่านอาจารย์ในกุฏิ และในระหว่างการประชุมก็เป็นช่วงที่มีปัญหาการปรับเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้น ผมจึงไม่ทราบเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งอาจารย์นิพนธ์เดินเข้ามาบอกว่า “เตรียมตัวไปกรุงเทพฯ” ผมฟังแล้วก็ยังงงๆ นึกว่า อาจารย์นิพนธ์พูดอะไรกัน? เกิดความสงสัยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเป็นไปได้อย่างไร?
อาจารย์นิพนธ์บอกผมแล้วก็ไปโทรศัพท์ติดต่อเรื่องการเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ท่านพรเทพมาเล่ารายละเอียดให้ผมฟังอีกทีในภายหลัง ความคิดของผมตอนนั้นคือ จะเอายังไงก็ได้จะให้ไปก็ไป หรือจะให้อยู่ก็อยู่ แต่ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัวของผม หรือถ้าผมเป็นผู้กำหนดการตัดสินใจ ผมคิดว่าตนเองคงอยากจะให้ท่านอาจารย์อยู่สวนโมกข์ต่อไป เพราะผมรู้สึกว่า การอาพาธครั้งนี้รุนแรงมาก จนสังขารของท่านไม่น่าจะฝืนไหว การที่ได้ติดตามดูแลสุขภาพของท่านมาโดยตลอดผมจึงคิดว่าพอที่จะรู้สภาพพื้นฐานของผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนหลังก่อนจะอาพาธนั้น ถ้าพูดกันอย่างตรง ๆ แล้ว ท่านอาจารย์เหมือนคนที่ไม่มีความสนใจจะมีชีวิตอยู่นัก แต่นี่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีการตัดสินใจแล้วว่าจะนำท่านขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อเข้ารักษาที่ศิริราช ผมก็เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดโดยคิดว่า ในเมื่อเป็นช่วงสุดท้ายของท่านอาจารย์แล้ว ก็อยากจะทำอะไรให้ท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้
คืนวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 เราเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ถึงศิริราชเมื่อ 01:05 น. ของวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม เรานำท่านเข้ารับการดูแลในหออภิบาลระบบทางเดินหายใจ หรืออาร์ซียู (RCU) ตึกอัษฎางค์ชั้น 2 โดยมีพระอุปัฏฐาก คือท่านพรเทพ ท่านสิงห์ทอง และพระรอเบิร์ต สันติกโร คอยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนผมก็อยู่กับท่านอาจารย์ตลอดตั้งแต่คืนวันนั้นและต่อเนื่องมาอีก 14 วัน 14 คืนในห้องอาร์ซียู ความคิดของผมตอนนั้น คือ หากท่านอาจารย์รู้สึกตัวขึ้นมา คงจะมีอะไรที่ไม่ถูกใจท่านเยอะ และท่านก็คงจะงงด้วย ผมจึงคิดว่า หากเราอยู่กับท่าน ก็คงจะเป็นประโยชน์บ้าง หากท่านอาจารย์มีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาได้
ช่วง 7 วันแรกในอาร์ซียู ผมรู้ลึก “สนุก” คือพอใจกับการทำหน้าที่ตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยอยู่เวรกลางคืนชนิดต้องอดนอนแบบนี้มานานแล้ว มิหนำซ้ำยังติดต่อกันหลาย ๆ คืนอีกด้วย ที่ผมรู้สึกสนุกก็เพราะมีความหวังขึ้นมาในช่วงนั้นว่าอาการของท่านจะดีขึ้น และในเวลา 7 วัน ถ้าอาการของท่านอาจารย์ไม่ดีขึ้น ก็จะมีการพาท่านกลับสวนโมกข์ แต่เมื่อสัปดาห์แรกผ่านไป ผมพบว่าแนวโน้มไม่ได้ออกมาในทางดังกล่าวนัก ตอนนั้นความสนุกหรือความพอใจ จึงเริ่มลดน้อยลง แต่ด้วยความเป็นห่วงท่านอาจารย์ ผมจึงอยู่ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อมาอีก 1 สัปดาห์
แล้วความไม่สนุกก็ได้เปลี่ยนไปสู่ความรู้สึกเริ่มไม่สบายใจ เมื่อเห็นว่าอาการของท่านอาจารย์มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยการทำงานของร่างกายท่านมากขึ้นทุกที แม้ผมจะทราบว่า นั่นคือแนวทางการรักษาตามปกติธรรมดาในโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป แต่มันก็เริ่มเบี่ยงเบนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจากทัศนะที่ตนเองได้รับทราบ และเห็นการปฏิบัติของท่านอาจารย์ในระหว่างการอาพาธมาก่อน เมื่อ 2 อาทิตย์ผ่านไป ผมจึงทำจดหมายถึงท่านคณบดี ศ.น.พ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ และท่านหัวหน้าหน่วยของผมคือ ศ.น.พ.รังสรรค์ ปุษปาคม ว่าผมขอหยุดพักการดูแลท่านอาจารย์อย่างใกล้ชิดเหมือนที่ปฏิบัติในช่วง 2 สัปดาห์แรก โดยเรียนเหตุผลว่าการอาพาธของท่านอาจารย์นั้น เมื่อผ่านมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว อาการของท่านอยู่ในสภาพทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่าอาการคงจะยืดเยื้อไปอีกนาน ผมจึงขอกลับไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ คือ กลับไปสอนนักศึกษาและตรวจผู้ป่วยอื่น ๆ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และได้มีการจัดเตรียมแพทย์หลายคนมาผลัดเปลี่ยนกันดูแลท่านอาจารย์เป็นการต่อเนื่องตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง โดยที่ผมก็ยังติดตามดูอาการของท่านอาจารย์อยู่ตลอดในช่วงเช้า และช่วงที่ว่างจากภารกิจประจำวัน และในช่วงเย็นก่อนที่ผมจะกลับที่พัก ขณะเดียวกันผมได้เรียนให้พระอุปัฏฐากทราบว่า ผมจะขอปลีกตัวไปทำงานอื่น คงจะมีเวลาช่วยดูแลท่านอาจารย์น้อยลงกว่าเดิม แต่ถ้าจะกลับสวนโมกข์เมื่อไร ผมจะไปด้วยทันที
สัปดาห์ต่อ ๆ มาหลังจากนั้น อาการของท่านก็ทรง ๆ ทรุดๆ แต่คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาก็ยังมีความหวังอยู่ว่าจะถวายการรักษาท่านได้ เพราะเชื่อว่าการตื่นตัวทางระบบประสาทในระยะยาวจะดีขึ้น โดยตั้งความหวังที่จะถวายการรักษาต่อไปจนสุดความสามารถ หรือจนกว่าจะมีข้อชี้บ่งถึงการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ที่ชัดเจน จึงจะให้นำท่านกลับสู่สวนโมกข์
แล้วในวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2536 นั้นเอง สังขารของท่านอาจารย์ก็เริ่มแสดงอาการดังกล่าวออกมา เพื่อบอกให้ทราบว่า เวลาแห่งการแตกดับของท่านได้มาถึงแล้ว ...
13 ชั่วโมงสุดท้าย
ก่อนผมจะกลับที่พักในคืนนั้น ช่วงประมาณทุ่มเศษ ท่านอาจารย์มีอาการหายใจหอบมากขึ้นกว่าเมื่อตอนบ่ายอย่างชัดเจน โดยที่ขณะนั้นเราไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่นอน แต่อาการดังกล่าวก็เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่า มีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และอาจนำไปสู่จุดแห่งการสิ้นสุดของท่านอาจารย์ได้?
เวลาประมาณ 22:00 น. เศษ น.พ.พูนทรัพย์ วงศ์สุรเกียรติ์ ซึ่งรับผิดชอบเวรการดูแลท่านอาจารย์ในคืนนั้นได้โทรศัพท์มาหาผมยังที่พัก รายงานว่าอาการของท่านอาจารย์ทรุดลงเรื่อย ๆ สันนิษฐานว่า คงมีการติดเชื้อในกระแสโลหิตขั้นรุนแรง โดยที่ยังไม่ทราบอวัยวะเริ่มต้นของการติดเชื้อที่แน่นอน ผมบอกให้ น.พ.พูนทรัพย์ รีบติดต่อเรียนให้อาจารย์นิพนธ์ และอาจารย์ท่านอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ แล้วดำเนินการศึกษาไปตามขั้นตอนที่คิดว่าเหมาะสม น.พ.พูนทรัพย์ โทรมารายงานความคืบหน้าของอาการให้ผมทราบเป็นระยะๆ ทุกชั่วโมง
จนประมาณตี 2 ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ผมรับฟังรายงานแล้ว เห็นว่าอาการของท่านอาจารย์คงจะไปไม่ไหวอีกแล้ว เนื่องจากความดันโลหิตของท่านต่ำลงเป็นลำดับ และต้องใช้ยาเพิ่มความดันขนาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผมตัดสินใจออกจากที่พักเดินไปศิริราชกลางดึก ถึงที่นั่นสักพักอาจารย์นิพนธ์ก็มาถึงและได้ตัดสินใจที่จะให้นำท่านอาจารย์กลับสวนโมกข์ ผมไปปลุกพระอุปัฏฐาก เพื่อแจ้งข่าวกับท่านตอนประมาณตี 3 พร้อมกับติดต่อไปที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ให้เตรียมพร้อมและคอยติดตามความคืบหน้าต่อไปด้วย แล้วผมก็กลับที่พักเพื่อเอาเสื้อผ้าเตรียมตัวไปสวนโมกข์ เพราะตอนแรกนั้นผมยังไม่ทราบว่าจะมีการตัดสินใจให้ท่านกลับ เพียงแต่คิดว่าอยากจะไปอยู่กับท่านอาจารย์ในช่วงท้าย ๆ ของท่านเท่านั้น
เวลา 07:15 น. เราเคลื่อนย้ายท่านอาจารย์ออกจากห้องอาร์ซียูไปขึ้นรถพยาบาล แพทย์ที่ร่วมเดินทางกลับสวนโมกข์กับท่าน ก็คือ อาจารย์นิพนธ์และผม โดยผมทำหน้าที่ดูแลเรื่องการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตของท่าน เราออกจากสนามบินกองทัพอากาศเมื่อเวลาประมาณ 08:45 น. ขณะที่เริ่มเดินทางนั้น อาการของท่านยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระหว่างที่อยู่ในเครื่องบิน ยังคงถวายยาต่าง ๆ ในขนาดเท่าเดิม แต่ใซ้เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติสำหรับการขนส่งผู้ป่วยชนิดเคลื่อนย้ายง่ายของโรงพยาบาลภูมิพล แทนการใช้เครื่องแบบบีบด้วยมือ ชีพจรของท่านในช่วงนั้นแรงสม่ำเสมอดี และระบบไหลเวียนของโลหิตไปยังเนื้อเยื่อส่วนปลายอยู่ในเกณฑ์เพียงพอ ผมพยายามปรับขนาดของยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้ท่านหายใจสงบ และไม่มีการเคลื่อนไหวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ท่านอาจารย์ในสายตาของผม รวมทั้งพระอุปัฏฐากและเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศที่ร่วมเดินทาง จึงดูเหมือนกับกำลังนอนหลับสนิท
แต่ผมก็รู้และแน่ใจแล้วว่า เวลาของท่านอาจารย์ใกล้จะดิ้นสุดอย่างแน่นอนแล้ว เมื่อไปถึงสวนโมกข์ ท่านคงจะอยู่ที่นั่นได้อีกไม่นานนัก ...
เครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ก็ถึงสนามบินสุราษฎร์ธานี คณะแพทย์พยาบาลพร้อมรถพยาบาลจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ มารอรับท่านอาจารย์อยู่แล้ว เราใช้เวลาประมาณ 10 นาที เคลื่อนย้ายท่านขึ้นรถพยาบาล แล้วมุ่งหน้าสู่สวนโมกข์ ก่อนที่จะถึงสวนโมกข์เล็กน้อย ชีพจรของท่านเต้นเบาลง และปลายมือปลายเท้าเย็นลงด้วย จึงต้องเพิ่มขนาดยาทางหลอดเลือดจนสูงสุด ชีพจรถึงแรงขึ้นมาอีกเล็กน้อย
เราเดินทางถึงสวนโมกข์ประมาณ 10:30 น. ข่าวการนิมนต์ท่านกลับ และอาการที่เพียบหนักของท่านอาจารย์ทำให้มีผู้คนมากมาย ทั้งพระ ฆราวาส โดยเฉพาะสื่อมวลชนมารอทำข่าวกันเนืองแน่น เรานำท่านเข้าสู่กุฏิประจำ ซึ่งท่านอาจารย์ถือว่าเป็น “โรงพยาบาล” ตามแบบของท่านอีกครั้งหลังจากที่ท่านจากไปอยู่ที่ศิริราชเสีย 41 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2536 เรายังคงถวายยาต่าง ๆ ทางหลอดเลือดเช่นเดิม ร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลสุราษฏร์จัดเตรียมไว้ ผมสังเกตจากสีหน้าของท่านที่เริ่มซีดลง ทำให้รู้ว่าอีกอึดใจ ทั้งยาและเครื่องช่วยหายใจเหล่านี้ ก็มิอาจจะประวิงเวลาการจากไปแห่งสังขารของท่านได้อีกต่อไป ตอนนั้นผมและ น.พ.วิโรจน์ถวายการดูแลอยู่ทางด้านขวามือของท่าน และ น.พ.ทรงศักดิ์อยู่ทางด้านซ้ายมือ แล้วชีพจรของท่านอาจารย์ และการไหลเวียนของโลหิตไปสู่เนื้อเยื่อส่วนปลายก็ค่อย ๆ ทรุดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็พบว่าชีพจรของท่านได้หยุดเต้น และท่านอาจารย์ได้มรณภาพไปโดยสงบ เมื่อเวลา 11:20 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2536
ผมจำได้ว่าคืนวันที่ 27 พฤษภาคม 2536 คืนแรกที่ผมมาถวายการรักษาการปัจฉิมอาพาธนั้น ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้ท่านตาย และกลัวที่ท่านจะตาย แต่ในนาทีที่ท่านจากไปจริง ๆ นั้น ผมกลับไม่ได้รู้สึกเสียใจ ทั้งนี้ เป็นเพราะผมรู้และเตรียมใจกับช่วงเวลาแบบนี้มาก่อนแล้ว อีกประการก็คือ ขณะที่ท่านจากไปนั้น ผมก็อยู่ถวายการดูแลที่ข้างองค์ของท่านตามที่ตนเองได้ตั้งใจไวด้วย โดยเฉพาะเมื่อผมระลึกถึงสิ่งที่ท่านเคยพูดและเคยปฏิบัติให้ผมเห็นมาตลอดว่า ความเจ็บและความตายสำหรับ “พุทธทาสภิกขุ” นั้น มันเป็น “เช่นนั้นเอง” หาใช่สิ่งที่จะต้องหวาดหวั่น ทุกข์ทรมาน หรือต้องดิ้นรน “หอบสังขารหนีความตาย” แต่อย่างไรไม่ ผมจึงรู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจในการจากไปของท่าน
นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นครั้งแรกในกุฏิหลังนี้ และได้เรียนรู้ต่อเนื่องมาจนถึงครั้งสุดท้ายในกุฏิหลังนี้เช่นกัน ...
บทส่งท้าย
เดิมนั้น ผมตั้งใจไว้ว่า ช่วงประมาณต้นสิงหาคม 2536 จะไปกราบนมัสการลาท่านอาจารย์พุทธทาส ก่อนที่จะไปศึกษาและทำวิจัยที่ประเทศแคนาดาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมีกำหนดเดินทางในปลายเดือนเดียวกัน ผมไม่ได้คิดว่า ในวันที่ผมจะเดินทางจากประเทศไทยไปนั้น ท่านอาจารย์ก็ได้นอนสงบนิ่งอยู่ในศาลาฝังศพหลังศาลาธรรมโฆษณ์แล้ว และวันที่ผมกราบนมัสการลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายก่อนไปต่างประเทศนั้น จะเร็วกว่าที่ผมคาดไว้ คือเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ผมเดินทางจากสวนโมกข์กลับกรุงเทพฯ ภายหลังพิธีบรรจุศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ผมตั้งใจว่า เมื่อกลับจากต่างประเทศ ผมคงจะไปสวนโมกข์อีกเมื่อมีโอกาส แต่โอกาสที่ผมจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากท่านอาจารย์โดยตรงเหมือนเดิม คงจะหมดไปแล้ว ก่อนไปต่างประเทศ ผมได้มีโอกาสนั่งทบทวนและทำบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาสในช่วงเวลา 20 เดือน ที่ได้ถวายการรักษา ผมสรุปกับตนเองว่า สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ คือ เรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของผมผู้เป็นแพทย์
ประการแรก ได้แก่ ข้อขบคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเป็นไปได้หลายรูปแบบ ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ แบบอุปถัมภ์ ระหว่างบิดากับบุตรในระบบครอบครัว หรือระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ปรารถนาจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่กันและกัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในระหว่างการรักษาอาการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ได้ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นในเรื่องนี้อย่างมาก และหันมามองทบทวนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยของเราในปัจจุบันนั้น อยู่ในแบบไหน และความสัมพันธ์แบบใดจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษามากที่สุด ผู้ป่วยควรมีบทบาทกำหนดรูปแบบการรักษาหรือไม่อย่างไร และแพทย์ควรมีบทบาทกำหนดการรักษาแค่ไหนอย่างไร ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขึ้นกับว่า เรามีทัศนะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแบบไหน
การได้มีโอกาสถวายการรักษาท่านอาจารย์พุทธทาส ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในแบบที่นอกเหนือไปจากระบบอุปถัมภ์อย่างที่ผมเคยชินอยู่ ซึ่งเป็นระบบที่แพทย์จะเป็นผู้กำหนดแนวทาง และวิธีการรักษาทั้งหมดตามที่ตนเองเห็นชอบ โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เองก็มอบการตัดสินใจทั้งหมดให้ขึ้นกับความรู้และการวินิจฉัยของแพทย์ เพราะความเชื่อมั่นในความรู้และวิทยาการสมัยใหม่
ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้ป่วยที่ทำให้ผมรับรู้ว่า แพทย์มิใช่ผู้กำหนดกระบวนการศึกษาทั้งหมด สำหรับท่านแล้ว แพทย์และวิทยาการสมัยใหม่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาการอาพาธของท่านอาจารย์เท่านั้น ความสัมพันธ์ของท่านกับการแพทย์สมัยใหม่ จึงมิใช่อยู่ในรูปแบบของการพึ่งพิง (แบบอุปถัมภ์ : ธงชัย สิทธิกรณ์) อย่างสิ้นเชิง หรืออย่างทั้งหมดดังเช่นทั่ว ๆ ไป ในเวลาที่ท่านอาพาธ ท่านอาจารย์จะพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ให้อยู่ในขอบเขตที่ท่านเองยอมรับได้ และเห็นว่าเหมาะสมกับท่าน ท่านอาจารย์จึงมีทั้งด้านที่ตอบรับการแพทย์สมัยใหม่ และด้านที่ปฏิเสธ แต่ก่อนที่ท่านจะตอบรับหรือปฏิเสธนั้น ท่านจะต้องซักถามและพินิจพิเคราะห์ข้อมูลที่เรากราบเรียนท่านก่อนด้วยทุกครั้งเสมอ
ดังนั้นในกระบวนการถวายการรักษา จึงมีการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมเห็นว่าประเด็นนี้เป็นประโยชน์ต่อการรักษามาก เพราะทำให้เกิดความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในหลายกรณีที่ท่านอาจารย์ปฏิเสธวิธีการรักษาของแพทย์ แต่ก็เป็นการปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล มิใช่ท่าทีของปฏิปักษ์ และมิใช่ด้วยความดื้อรั้นดึงดันไม่ยอมฟังเหตุผล หรือไม่ยอมทำความเข้าใจสิ่งที่แพทย์เสนอ แต่ผมเห็นว่าท่านเข้าใจดี เพียงแต่ว่าท่านมีวิธีอื่นที่ท่านต้องการจะเลือกมากกว่า เพราะวิธีดังกล่าวสอดคล้องได้มากกว่ากับหลักการของท่านอาจารย์เอง
แม้ในส่วนของแพทย์เอง การได้ลื่อสารกับผู้ป่วยก็จะช่วยให้แพทย์ได้เรียนรู้ผู้ป่วยของตนเองมากขึ้น กว่าแค่การตรวจ-วิเคราะห์โรค-สั่งยาหรือวิธีบำบัดต่าง ๆ ไปอย่างอัตโนมัติแบบกลไก และสิ่งที่แพทย์ได้เรียนรู้จากผู้ป่วยนั้นจะเป็นประสบการณ์ที่พัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้แตกฉานออกไปอีกด้วย แม้ว่าช่วงเวลาในการถวายการรักษาท่านอาจารย์ จะยังน้อยเกินกว่าที่ผมจะก้าวไปสู่ความแจ่มแจ้งตรงนี้ได้ แต่ผมก็ได้แนวคิดที่จะไปคิดต่อว่า จะนำกรณีของท่านอาจารย์นี้ ไปประยุกต์ใช้อย่างไรในการดูแลรักษาคนไข้ เพื่อจะทำให้มีการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น และเกิดความคิดว่าเราควรจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติกับผู้ป่วยอื่น ๆ ด้วยหลักที่ไม่แตกต่างจากกรณีของท่านอาจารย์ แม้ว่าเวลานี้ผมอาจจะยังไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม
ประการที่สอง ได้แก่ ทัศนะและการปฏิบัติของท่านในเรื่องความเจ็บป่วย
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์อีกประการหนึ่ง ก็คือประการที่สอง ทัศนะและการปฏิบัติของท่านในเรื่องความเจ็บป่วย การรักษาและการตาย ทำให้เห็นว่าในระบบวิทยาการของการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มุ่งจะค้นหาและวิเคราะห์ส่วนย่อยของร่างกายที่ผิดปกติ เพื่อความเข้าใจปรากฏการณ์แล้ววางแผนการรักษาไป โดยไม่ได้มองว่าการเจ็บป่วยของมนุษย์นั้น ไม่ได้มีเพียงมิติทางร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เรายังละเลยกันมาก ก็คือ มิติทางจิต (Mental) และวิญญาณ (spiritual) ของผู้ป่วย ทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนทั้ง 2 มิตินี้ ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการเยียวยารักษาผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง นี่เป็นปัญหาที่ผมคงต้องขบคิด และมุ่งหวังให้แพทย์ในระบบปัจจุบันได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ จะช่วยให้เราปฏิบัติหน้าที่ในคณะแพทย์ได้อย่างถูก “ต้องมาก” ขึ้น และเมื่อใดที่เราทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เมื่อนั้นเราย่อมปฏิบัติธรรมไปในตัว ดังที่ท่านอาจารย์มักจะพูดอยู่เสมอว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” หรือ “ธรรมะคือหน้าที่” นั่นเอง
ตลอดเวลาของการถวายการรักษา ผมประทับใจในระบบความคิด ระบบการเรียนรู้ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าท่านเป็นนักคิดที่หาได้ยาก และท่านอาจารย์ยังเป็นผู้ที่พอใจกับการเผยแผ่ความคิดที่ถูกต้องตลอดชีวิตการทำงานของท่าน ทั้งโดยวิธีการสอนและการปฏิบัติให้ดู แม้ในยามอาพาธและมรณภาพ ท่านอาจารย์ก็สามารถก่อให้เกิดกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมได้อย่างกว้างขวางและลุ่มลึกด้วย
ผมคิดว่าหน้าที่ต่อไปของพวกเราก็คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ท่านคิดและตั้งปณิธานไว้นี้ ปรากฏเป็นจริงในสังคมไทยให้เร็วที่สุด และถูกต้องงดงามที่สุดด้วย.
นิธิพัฒน์ เจียรกุล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
22 สิงหาคม 2536