กรวดน้ำ

ว.วชิรเมธี

ความหมาย

กรวดน้ำ หมายถึง แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ การกรวดน้ำแผ่สว่นบุญนั้น มี 4 ประการ คือ

  1. การหลั่งน้ำตัดขาดจากกัน

  2. การหลั่งน้ำยกกรรมสิทธิ์ให้ครอบครอง

  3. การหลั่งน้ำตั้งความปรารถนา

  4. การหลั่งน้ำแผ่ส่วนกุศล

1. การหลั่งน้ำเพื่อตัดขาดจากกัน

อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงตัดขาดไมตรีกับพม่า เพื่อประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อ พ.ศ. 2127 โดยวิธีหลั่งน้ำลง เหนือแผ่นดิน

2. การหลั่งน้ำยกกรรมสิทธิ์ให้ครอบครอง

อาทิ เมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยราชบริพารให้เลื่อมใส และได้ถวายวัดเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา เพราะทรงเห็นว่าป่าไม้ไผ่ ที่เรียกว่า "พระราชอุทยานเวฬุวัน" เป็นที่ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากชุมชนนัก สมควรเป็นที่อยู่ของสมณะได้

3. การหลั่งน้ำตั้งความปรารถนา

เพื่อให้สำเร็จผลที่ประสงค์ พึงเห็นตัวอย่างในมหาเวสสันดรชาดก

4. การหลั่งน้ำแผ่ส่วนกุศล

เช่น พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรดาเปรต ซึ่งเป็นพระญาติในชาติก่อน ปรากฏในมังคลัตถทีปนีคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาว่า "เมื่อพระราชาทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศส่วนกุศลว่า อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ ขอทาน (บุญ) นี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า" วิธีนี้เป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แก่ญาติ ทั้งมิตร และสรรพสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นปัตติทานมัยบุญ สำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ

คำถามชวนคิด

1. ทำไมจึงต้องกรวดน้ำหลังเวลาทำบุญ

ปัจจุบันนิยมกรวดน้ำหลังจากทำบุญถวายทานเสร็จแล้ว เพื่อประสงค์จะทำเจตนาของตนให้บริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล คือ

  1. กาลก่อนให้ เรียกว่า ปุพพเจตนา เจตนาก่อนให้

  2. กาลที่กำลังให้ เรียบกว่า มุญจนเจตนา เจตนาขณะให้

  3. กาลอปราปรเจตนา เจตนาต่อๆ ไปหลังจากให้ทานแล้ว

2. กรวดน้ำเวลาใด และหยุดเวลาใด

การกรวดน้ำ ควรหลั่งในเวลาที่พระเถระผู้เป็นประธานเริ่มอนุโมทนาว่า "ยถา วาริวหา ..." ก็เริ่มหลั่งน้ำลงในภาชนะที่เตรียมไว้ จนกระทั่งอนุโมทนาลงท้ายว่า "

... มะณิโชติระโส ยะถา ..." จึงหยุดกรวดน้ำ แล้วเทน้ำที่เหลืออยู่ลงในภาชนะที่รองรับให้หมด แล้วประณมมือรับพร พร้อมกับที่พระรูปอื่นๆ รับว่า "สัพพีติโย ..."

3. ทำไมจึงต้องเทน้ำกรวดให้หมดในเวลาพระว่า "มะณิโชติระโส ยะถา" จบลง

เพราะถือว่า เมื่อน่ำไหลไปมหาสมุทรสาครเต็มแล้ว ก็ไม่ไหลอีกต่อไป ความปรารถนาที่ตั้งไว้ก็บริบูรณ์แล้ว ลำดับต่อไปก็รับพรจากพระ

4. ทำไมจึงกรวดน้ำให้ไหลติดต่อกันไม่ให้ขาดสาย

เพื่อให้กุศลที่อุทิศไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับไม่ขาดระยะ ให้ติดต่อกันไป และความปรารถนาก็จะได้ไม่ขาดระยะ เป็นไปโดยราบรื่น เหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปสู่มหาสมุทรสาคร ย่อมไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ หากเทน้ำให้ขาดระยะ เปรียบเหมือนบุญกุศลที่จะได้ก็ขาดระยะ ความปรารถนาก็จะขาดระยะ

5. ทำไมต้องกรวดน้ำ

การกรวดน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นการักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทั้งเป็นการแสดงถึงความยินดีในการบำเพ็ญกุศลที่ได้ทำไว้แล้ว และเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

6. ทำไมจึงเทน้ำกรวดที่กลางแจ้ง ที่โคนต้นไม้ หรือในที่ไม่มีวัตถุสิ่งใดปกคลุม

เพราะเชื่อว่า การเทน้ำลงที่กลางแจ้งที่สะอาด หรือโคนต้นไม้นั้น เพื่อต้องการปลูกฝังนิสัยให้รักต้นไม้

7. ทำไมต้องใช้น้ำกรวด จะกรวดแห้งได้หรือไม่

การใช้น้ำ ถือตามประเพณีนิยม ที่ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ และให้สมกับคำอนุโมทนาของพระที่ว่า "ยถา วาริวหา ..." เหมือนห้วงน้ำที่ยังมหาสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมฉะนั้น จะกรวดน้ำโดยไม่ใช้น้ำ หรือที่เรียกกันว่ากรวดแห้งก็ได้ เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญฯ

8. ทำบุญแล้วไม่กรวดน้ำจะได้อานิสงส์หรือไม่

ได้ เพราะผู้ทำบุญย่อมได้บุญ ทำความดีต้องได้ดี บุญต้องเป็นของผู้ทำบุญตลอดไป

9. เวลากรวดน้ำใช้มือขวาหรือมือซ้าย

ควรใช้มือขวา เพราะเป็นมือที่แสดงถึงความเคารพ เป็นการเคารพในทานที่ตนให้ และเคารพในปฏิคคาหก คือผู้รับทานจากเราด้วย การเคารพนิยมใช้มือขวาตามแบบสากลนิยม

10. เวลาหลั่งน้ำกรวด ต้องใช้มือซ้ายรองรับน้ำด้วยหรือไม่

ไม่จำเป็น เพียงแต่ใช้มือซ้ายจับภาชนะเปล่าไว้ จะจับที่ขอบปากหรือที่ตัวภาชนะก็ได้ หรือไม่จับเลยก็ได้

11. การกรวดน้ำด้วยภาษาไทยได้หรือไม่

ได้ การกรวดน้ำด้วยภาษาใดไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเจตนา ความตั้งใจ ความปรารถนาดี คนเราจะได้ดีเพราะการตั้งจิตไว้ให้ดี นั่นเอง