บทความชาวพุทธ

17. จักษุปัญญา ดวงตาเห็นธรรม

ผู้ที่เข้าถึงพุทธแล้ว จะไม่ไหว้ผี ไม่เชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดี ไม่เชื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เราจะรู้จะเห็น จะเข้าถึงแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดมรรคผลนิพพาน


มีภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า #ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะไปพึ่งคนอื่นไม่ได้ พึ่งผีก็ไม่ได้ พึ่งเทวดาก็ไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าก็พึ่งไม่ได้เช่นกัน


ตัวชี้วัด ความเข้าถึงพุทธ คือ ...


การเห็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยจิตใจ คือสามารถใช้ความนึกคิด เห็นสิ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา จับไม่ได้ด้วยมือ แต่สามารถเห็น สามารถรับรู้ได้ด้วยตาแห่งปัญญา เรียกว่า #จักษุปัญญา


เพราะพระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้จากการกระทำทางจิตใจ เราจึงต้องรู้จิตใจ เห็นจิตเห็นใจตนเอง ที่กำลังคิด จึงจะสามารถเรียกว่า ได้เข้าถึงพุทธ


ธงชัย แปลความจาก

พระธรรมเทศนา หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

เมื่อ 11 ธันวาคม 2562


11 ธันวาคม 2564

16. กตัญญู

อันที่จริงอาตมาตั้งใจว่า เมื่อกลับไปวัดป่าพง จะขอให้หลวงพ่อส่งอาตมาไปอยู่วัดสาขา ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป อย่างเช่นวัดสวนกล้วย ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนเขมร เป็นวัดกันดารเพราะอยู่ในเขตด้อยพัฒนา ถนนหนทางยังไม่ดี อากาศก็ร้อน ต้นไม้ทุกต้นเตี้ยกว่าอาตมาอีก เหมือนกันถูกเนรเทศไปอยู่ไซบีเรียเลยแหละ


แต่หลวงพ่อไม่เห็นด้วย ท่านกลับส่งอาตมาไปอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าพงประมาณหกกิโลเมตร และในปี พ.ศ. 2518 เราก็ได้ตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่นั่น ในที่ซึ่งเคยเป็นป่าช้าของชาวบ้าน เขาลือกันว่าผีดุด้วย เพราะฉะนั้นชาวบ้านจึงมักแวะเวียนมาถามอยู่เรื่อย ๆ


ท่านอาจารย์นอนหลับสบายดีไหม


เห็นอะไรแปลก ๆ บ้างหรือเปล่า


อาตมาไม่เห็นอะไรเลยเพราะผีไม่เคยมายุ่งกับอาตมา แต่ประสบการณ์ที่วัดนานาชาติก็ได้ช่วยให้อาตมาพิสูจน์ตัวเองสำหรับการดำรงชีวิตในสมณเพศ ทั้งนี้ก็ด้วยอาศัยความกตัญญูนั่นเอง


การมาอยู่ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อหลวงพ่อขอให้อาตมามาอยู่ที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2524 อาตมาก็ตั้งใจมั่นว่าจะต้องไม่ทำอะไรตามความคิดและอารมณ์ของตนเองเป็นอันขาด เพราะปีแรกที่มาอยู่นั้น มันแย่มากเลย อาตมารู้สึกว่าพร้อมที่จะกลับเมืองไทยได้ทุกขณะ


แต่เพราะความกตัญญูทำให้อาตมาหนักแน่นมั่นคงต่อการทำหน้าที่ หนักแน่นแต่ไม่หนักหน่วง ไม่ใช่ว่าต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะรู้สึกหนัก แต่ทำด้วยความเต็มใจที่จะรับใช้ และเสียสละด้วยจิตใจที่เบิกบาน และด้วยความกตัญญูต่อหลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ของเรา


มีเรื่องหนึ่งอาตมาอยากเล่าให้ฟัง ปีแรกที่อาตมาเป็นสามเณรอยู่ที่หนองคาย อาตมาได้พบพระรูปหนึ่งเดินธุดงค์ไปจากอุบลฯ พระรูปนี้อายุเท่าอาตมา เคยทำงานในราชนาวีไทย อาตมาก็เคยอยู่ในกองทัพเรืออเมริกันในสงครามเกาหลี


ท่านเป็นพระไทยรูปแรกที่อาตมาได้พบที่พูดภาษาอังกฤษได้ แม้ว่าจะพูดได้อย่างงู ๆ ปลา ๆ แต่อาตมาก็ดีใจที่มีใครสักคนที่พอจะพูดด้วยได้ในเวลานั้น ท่านเป็นพระที่เคร่งมาก ดูเคร่งครัดในพระวินัยทุกข้อ ฉันอาหารในบาตร ใช้วีจรสีกรักอย่างพระป่า แต่ในวัดที่อาตมาอยู่นั้นพระใช้จีวรสีเหลืองส้ม อาตมาประทับใจในตัวท่านมาก ท่านได้แนะนำว่าอาตมาควรจะไปอยู่กับหลวงพ่อชา


ดังนั้นหลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และท่านอุปัชฌาย์อนุญาตแล้ว อาตมาก็ออกเดินทางไปอุบลฯกับท่านทันที แต่ระหว่างทางท่านก็ทำให้อาตมาเสื่อมศรัทธาและรู้สึกเบื่อหน่ายจนสุดจะทน


เพราะท่านจู้จี้จุกจิกและมีเรื่องตำหนิพระอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ท่านคิดว่าเราเท่านั้นเป็นพระดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่อาตมารับไม่ได้ อาตมาได้แต่หวังว่าหลวงพ่อชาจะไม่เป็นเหมือนพระองค์นี้ ตอนนั้นชักไม่แน่ใจว่ากำลังทำอะไรกับตัวเอง


เมื่อเราไปถึงวัดหนองป่าพง และได้กราบหลวงพ่อแล้ว อาตมาก็รู้สึกโล่งใจหายกังวลทันที ปีต่อมาพระรูปนั้นก็ลาสิกขาแล้วก็เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ท่านอดเหล้าได้ก็เฉพาะช่วงที่อยู่ใน สมณเพศเท่านั้นเอง พอลาสิกขาแล้วก็เลยเมาหยำเป กลายเป็นคนจรจัด น่าสมเพท เมื่ออาตมาได้ข่าวก็รู้สึกโกรธและนึกรังเกียจ


เย็นวันหนึ่งเมื่อได้คุยเรื่องนี้กับหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกอาตมาว่า “ท่านต้องกตัญญูต่อเขา เพราะเขาเป็นคนพาท่านมาที่นี่ ไม่ว่าเขาจะประพฤติตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ท่านก็ต้องถือเสมือนเขาเป็นครูคนหนึ่งของท่านและแสดงความกตัญญูต่อเขา


เพราะการที่เขาได้พาท่านมาที่นี่อาจจะเป็นคุณความดีเพียงอย่างเดียวที่เขาเคยทำในชั่วชีวิตนี้ เป็นสิ่งเดียวที่เขาจะภูมิใจได้ ไปบอกให้เขารู้สึกดี ๆ ในเรื่องนี้ บางทีเขาอาจจะเปลี่ยนก็ได้”


แล้วหลวงพ่อก็เร่งเร้าให้อาตมาไปตามหาโยมคนนั้นไปคุยกับเขา ขอบคุณที่เขาพามาหาหลวงพ่อ ซึ่งอาตมารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่งดงามน่าปฏิบัติตามจริง ๆ ถ้าให้อาตมาไปพูดดูถูกเขาอย่างนี้ก็ง่าย.... โยมทำให้อาตมาผิดหวังมาก โยมเคยตำหนิคนอื่น คิดว่าตัวเองเป็นพระดี แล้วดูซิ


ตอนนี้โยมเป็นยังไง... บางทีเราก็อารมณ์เสีย เพราะขัดเคือง ที่เขาไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง แต่ หลวงพ่อจะบอกว่า ... อย่าไปทำอะไรอย่างนั้น เสียเวลาเปล่า ๆ แล้วก็อันตรายด้วย ทำสิ่งดี ๆ จากจิตที่ประกอบด้วยความกรุณาดีกว่า...


เมื่ออาตมาได้พบเขา เขาก็ยังดูโทรมอยู่อย่างเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่ทุกครั้งที่เห็นอาตมาดูเขาดีอกดีใจเพราะเขาจำได้ ในชีวิตของเขาคงมีไม่กี่ครั้งหรอกที่จะได้รู้สึกดี ๆ อย่างนั้น อาตมาก็รู้สึกดีใจที่ทำให้เขามีความสุข แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง คนที่มีความทุกข์มาก ๆ นั้น ถ้าเราได้ทำให้เขามีความสุขบ้าง แม้แค่สองสามครั้ง เราจะรู้สึกปลื้มมาก


ครูบาอาจารย์หลายคนที่อาตมาสนใจผลงาน แต่ไม่เคยรู้จักเป็นส่วนตัว อย่างเช่น อลัน วัตต์ (Alan Watts) ผู้เขียน “วิถีแห่งเซ็น”(The Way of Zen) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มหนึ่งที่อาตมาได้อ่านในระยะแรก ๆ


จำได้ว่าประทับใจมาก อ่านแล้วอ่านอีกหลายเที่ยว แต่ต่อมาภายหลังอาตมาได้ทราบว่าเขาชักไม่ได้เรื่องแล้ว เมื่ออาตมามีโอกาสได้ไปฟังเขาพูดที่ ซานฟรานซิสโก ยอมรับว่าเขาพูดเก่ง แต่ตอนนั้นคิดว่ายังไม่ดีพอ


แต่ปัจจุบันเมื่อระลึกย้อนกลับไป อาตมาก็รู้สึกขอบคุณและกตัญญูต่อ อลัน วัตต์ ตลอดทั้งนักเขียนและครูบาอาจารย์อีกหลาย ๆ คน ที่เคยให้ความรู้แก่อาตมา ชีวิตส่วนตัวของเขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องของเราจะไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือฝังใจอยู่กับความบกพร่องผิดพลาดของเขา ผู้มีเมตตาและกตัญญูต้องสามารถเลือกจดจำเฉพาะด้านที่ดีของผู้อื่นเท่านั้น


ฉะนั้นในวันนี้ที่เราได้ตั้งใจมาแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ของเรา ก็ถือว่าได้ทำสิ่งที่เป็นมงคลต่อชีวิต น่าปลื้มใจ การสมาทานศีลห้า ถวายทานแก่พระสงฆ์ แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ท่านอย่างที่โยมทำเมื่อเช้านี้ เป็นพิธีกรรมที่งดงาม


โอกาสอย่างนี้เราควรเผื่อแผ่ความกตัญญูของเราไปยังประเทศอังกฤษด้วย เพราะปกติเรามักไม่ค่อยนึกถึง สิ่งดี ๆ ที่เราได้รับจากสังคมและประเทศอังกฤษ ซึ่งมีมากมายนั้น สมควรที่เราจะระลึกถึงด้วยความกตัญญู


แม้ว่า สังคมสมัยใหม่จะไม่เอื้อให้เราได้คิดมากนัก มันไม่ใช่เรื่องของชาตินิยมแบบหลับหูหลับตา หรือความหยิ่งผยองในชาติกำเนิด แต่เป็นการแสดงออกของจิตใจที่งองามซาบซึ้ง มุมมองอย่างนี้จะทำให้เรามีชีวิตที่เบิกบาน


แต่ถ้าเราเอาแต่เพ่งโทษหรือเรียกร้องจะเอาแต่สวัสดิการที่ดีที่สุดจากสังคม เมื่อได้ตามปรารถนาจึงจะรู้สึกกตัญญู อย่างนี้จะทำให้เราติดนิสัยร้องทุกข์และคิดเอาแต่ได้ร่ำไป


อาตมาเป็นทหารเรืออเมริกัน 4 ปี ทำงานในเรือส่งเสบียงระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปีนส์ อาตมาชอบทะเล หลงใหลเอเซีย มีโอกาสได้ไปญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปีนส์ จำได้ว่าเมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่ฮ่องกง


ในปี พ.ศ. 2498 อาตมาตื่นเต้นมากที่จะได้ชมเมือง เที่ยวชวนใครต่อใครไปด้วยก็ไม่มีใครสนใจ คนที่ไปก็เข้าคลับเข้าบาร์ เขารู้จักฮ่องกงแค่นั้นเอง


ทหารอเมริกันสมัยนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก เขามองไม่เห็นความงดงามของแผ่นดินอื่น ถ้ามองดูไม่เหมือนเดอ มอยส์ ไอโอวา เบอร์มิงแฮม หรือ อลาบามา แล้วก็แปลว่า ไม่ดีทั้งนั้น


และในช่วงที่ทำงานอยู่ในกองทัพเรือนี่แหละที่อาตมาได้สังเกตเป็นครั้งแรกว่า พวกเรามีแต่เรื่องบ่นร้องทุกข์อยู่ตลอดเวลา บ่นทุกเรื่องจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่จะว่าไปแล้วเราก็ได้รับประโยชน์มากมายจากการทำงานในกองทัพ เช่น โอกาสทางการศึกษา เป็นต้น


อาตมาได้รับทุนเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี แต่ในขณะนั้นเราก็คิดเพียงแต่จะเอาให้ได้มากที่สุด ใช้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตนให้มากที่สุด แล้วก็บ่นไม่พอใจในทุกเรื่อง หาช่องว่างหลีกเลี่ยงทุกครั้งที่มีโอกาส ทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมผิดกฎหมายก็ได้ตราบใดที่ไม่ถูกจับ


นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ให้หลักประกันชีวิตที่พร้อมทุกอย่าง แต่ผู้คนก็ยังบ่นแล้วก็เรียกร้องแต่จะเอา เอา เอา สังคมของเราจึงกลายเป็นสังคมแห่งความเสื่อม สังคมของคนขี้บ่นและเรียกร้องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


ฉะนั้นวันนี้ขอให้เป็นวันที่เราจะได้พัฒนาความกตัญญู แต่อย่าคิดวูบวาบเพียงแค่วันนี้วันเดียว ต้องฝึกปฏิบัติให้ได้เป็นประจำทุกวัน เพื่อจิตใจจะได้เปิดกว้างและเกิดปีติ ปีติเป็นปัจจัยแห่งการรู้แจ้ง


การพัฒนาจิตต้องมีปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เบิกบานชุ่มชื่น ถ้าขาดปีติชีวิตก็เหี่ยวแห้ง มืดมน กลายเป็นคนซึมเศร้า วันนี้เราจงสร้างใจให้เกิดปีติกันเถิด


สุเมโธภิกขุ

15. วัดไหนจะเริ่มก่อน

รับสั่งสมเด็จพระสังฆราช ทำเอาช็อค พุทธแท้กลับมาแล้ว !!

เลิกเอาเงินให้พระเสียทีเถิด

สมเด็จพระสังฆราช รับสั่งกับประชาชนที่มาสักการะบูชาท่านว่า

"อย่าเอาเงินมาถวาย"

พระรับเงินรับทองเป็นอาบัติที่รุนแรงมาก พุทธศาสนาของเราเสื่อมลงถึงวันนี้ คิดให้ดี เป็นเพราะโยมไม่ศึกษาพระธรรมวินัย เอาเงินไปถวายพระ เมื่อไหร่พวกเราจะเลิกทำบาปกันเสียที หยุดเอาเงินให้พระ หยุดทำร้ายพระศาสนา หยุดสร้างกลุ่ม "เบ็ญจราคี"

ที่โสโครกโสมมเพิ่มขึ้น สวดอภิธรรมศพก็คงงดเว้นการใส่ซองขาวด้วย กิจของสงฆ์นิมนต์แล้วต้องทำมิฉนั้นอาบัติผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ไม่ควรมีพระร่ำรวยเพราะเงินทำบุญ

14. อิติปิโสฯ บทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์

บทสวดมนต์อิติปิโสฯ แต่ล่ะตัวอักษร มีความย่อของ 1 บท เช่น อิ = 1 บท ติ = 1 บท
ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

สวดเท่าอายุเกินอายุหนึ่งจบ

1. อิ. อิฏโฐ สัพพัญญุตัญญานัง อิจฉันโต อาสะวักขะยัง อิฏฐัง ธัมมัง อะนุปปัตโต อิทธิมันตัง นะมามิหัง

(อิ แปล จงหมั่นภาวนา ป้องกันศัสตรา ห่อนต้องอินทรีย์ ทำให้แคล้วคลาด นิราศไพรี สิริย่อมมี แก่ผู้ภาวนา)

2. ติ. ติณโณ โย วัฏฏะทุกขัมหา ติณณัง โลกานะมุตตะโม ติสโส ภูมี อะติกกันโต ติณณะโอฆัง นะมามิหัง

(ติ แปล ถึงบทนี้ไซร้ หมั่นภาวนาไว้ กันภัยนานา ภูตผีปีศาจ มิอาจเข้ามา ทั้งปอปทั้งห่า ไม่มาหลอกหลอน)

3. ปิ. ปิโย เทวะมะนุสสานัง ปิโยพรหมานะมุตตะโม ปิโย นาคะสุปัณณานัง ปิณินทริยัง นะมามิหัง

(ปิ แปล ภาวนานึก สติตรองตรึก อย่าทำใจร้อน สารพัดเมตตา อย่าได้อาวรณ์ ครูแต่เก่าก่อน เคยได้ใช้มา)

4.โส. โสกา วิรัตตะจิตโต โย โสภะนาโม สะเทวะเก โสกัปปัตเต ปะโมเทนโต โสภะวัณณัง นะมามิหัง

(โส แปล ภาวนาทุกวัน ตามกำลังวัน ป้องกันอันตราย ทุกข์ภัยพิบัติ สารพัดเหล่าร้ายศัตรูทั้งหลาย แคล้วคลาดห่างไกล)

5. ภะ. ภะชิตา เยนะ สัทธัมมา ภัคคะปาเปนะ ตาทินา ภะยะสัตเต ปะหาเสนโต ภะยะสันตัง นะมามิหัง

(ภะ แปล จงภาวนา กันโรคโรคา ไข้เจ็บทั้งหลาย ศัตรูมุ่งมาด มิอาจทำได้ พินาศยับไปด้วยพระคาถา)

6. คะ. คะมิโต เยนะ สัทธัมโม คะมาปิโต สะเทวะกัง คัจฉะมาโน สิวัง รัมมัง คะตะธัมมัง นะมามิหัง

(คะ แปล ถ้าหมั่นภาวนา โรคภัยโรคา ไม่มาย่ำยี จะค่อยบรรเทา หากโรคเก่ามี มิช้ากายี สิ้นทุกข์สุขา)

7. วา. วานา นิกขะมิ โย ตัณหา วาจัง ภาสะติ อุตตะมัง วานะ นิพพาปะ นัตถายะ วายะมันตัง นะมามิหัง

(วา แปล บทนี้ดีล้ำ ภาวนาซ้ำๆ ป้องกันศัตรู เหล่าโจรอาธรรม์ พากันหนีอู้ ไม่คิดต่อสู้ออกได้หายไป)

8. อะ. อะนัสสา สะกะสัตตานัง อัสสาสัง เทติ โย ชิโน อะนันตะคุณะสัมปันโน อันตะคามิง นะมามิหัง

(อะ แปล ให้ภาวนา กันเสือช้างมา ทำร้ายรบกวน เป็นมหาจังงัง สิ้นทั้งชบวนจระเข้ประมวล สัตว์ร้ายนานา)

9. ระ. ระโต นิพพานะสัมปัตเต ระโต โย สัตตะโมจะเน รัมมาเปตีธะ สัตเต โย ระณะจัตตัง นะมามิหัง

(ระ แปล ภาวนาไว้ คุณคนคุณไสย สารพัดพาลา ใช้ป้องกันได้ มิให้เข้ามาถูกต้องกายา พินาศสูญไป)

10. หัง. หัญญะติ ปาปะเก ธัมเม หังสาเปติ ปะรัง ชะนัง หังสะมานัง มะหาวีรัง หันตะปาปัง นะมามิหัง

(หัง แปล ให้ภาวนา ในเมื่อเวลา เข้าสู่สงคราม ข้าศึกศัตรู ใจหู่ครั่นคร้ามไม่คิดพยายาม ทำร้ายเราแล)

11. สัม. สังขะตาสังขะเต ธัมเม สัมมา เทเสสิ ปาณินัง สังสารัง สังวิฆาเฏติ สัมพุทธันตัง นะมามิหัง

(สัม แปล ภาวนาตรึก ช่างดีพิลึก ท่านให้รำพัน เมื่อจะเข้าสู่ เหล่าศัตรูสรรพหมดสิ้นด้วยกัน พ่ายแพ้ฤทธิ์)

12. มา. มาตาวะ ปาลิโต สัตเต มานะถัทเธ ปะมัททิโต มานิโต เทวะสังเฆหิ มานะฆาฏัง นะมามิหัง

(มา แปล ภาวนาไว้ ถ้าหมั่นเสกไซร้ ทุกวันยิ่งดี แก้คนใจแข็ง มานะแรงมีใจอ่อนทันที ไม่เย่อไม่หยิ่ง)

13. สัม. สัญจะยัง ปาระมี สัมมา สัญจิตะวา สุขะมัตตะโน สังขารานัง ขะยัง ทิสวา สันตะคามิง นะมามิหัง

(สัม แปล สำหรับบทนี้ ตำรับกล่าวชี้ ว่าดีจริงจริง สำหรับเสกยา ปัญญาดียิ่งสุดจะหาสิ่ง ใดมาเปรียบปาน)

14. พุท. พุชฌิตวา จะตุสัจจานิ พุชฌาเปติ มะหาชะนัง พุชฌาเปนตัง สิวัง มัคคัง พุทธะเสฏฐัง นะมามิหัง

(พุท แปล ภาวนาไป เสนียดจัญไร มิได้พ้องพาน อุปสรรคไรไร ก็ไม่คะคานแสนจะสำราญ ให้หมั่นภาวนา)

15.โธ. โธติ ราเค จะ โทเส จะ โธติ โมเห จะ ปาณินัง โธตะเกลสัง มะหาปุญญัง โธตาสะวัง นะมามิหัง

(โธ แปล ภาวนาไว้ กันเสือช้างได้ ทั้งสุนัขหมา ใช้ป้องกันภัย สัตว์ร้ายนานาไม่อาจเข้ามาย่ำยีบาทา)

13. ตำนานหลวงพ่อโสธร

กว่า 200 ปีที่ผ่านมา ได้มีเรื่องเล่าว่า มีพระพุทธรูป 3 องค์ ลอยตามน้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยามาจากทางเหนือ ถึงแม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางขวัญและตำบลบ้านใหม่ เมื่อชาวบ้านเห็นจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “สามพระทวน” ตามชื่อเหตุการณ์ แต่ก็เรียกเพี้ยนกันไปเป็น “สัมปทวน”

เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ลอยต่อไปจนถึงคุ้งน้ำ ชาวบ้านมากมายพากันใช้เชือกฉุดขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านบางพระ” จากนั้น พระพุทธรูปก็ลอยต่อเข้าไปในคลองเล็กๆ แล้วก็เกิดลอยวน ทำให้ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “แหลมหัววน” ชาวบ้านได้พยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่ง แต่ก็ยังคงไม่สำเร็จอีกเช่นเคย จึงต้องทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาบวงสรวง จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กขึ้นจากฝั่งได้โดยสำเร็จ แล้วนำขึ้นไปประดิษฐานที่วัด พร้อมถวายนามแก่องค์พระว่า “พระโสทร” ซึ่งหมายถึงพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน แต่เมื่อล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “โสธร” ที่มีความหมายว่าสะอาด นั่นเอง

ส่วนพระองค์ใหญ่ เมื่อได้ลอยจากแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงบริเวณสามเสนในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถฉุดอาราธนาขึ้นมาได้สำเร็จ แม้จะใช้คนถึง 300,000 จนเป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณนี้ว่า สามแสน นั่นเอง ต่อมาภายหลังจึงเพี้ยนกลายเป็นสามเสนในที่สุด สุดท้ายพระพุทธรูปก็ล่องลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับการอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม

ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้ายล่องไปที่จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี ทำให้เป็นที่มาของหลวงพ่อโต วัดบางพลี อันเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป

กล่าวกันว่าแต่เดิมองค์หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชรทรงสวยงาม ที่มีหน้าตักกว้างศอกเศษ แต่ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเกรงว่าองค์หลวงพ่อโสธรจะไม่ปลอดภัย จึงทำการพอกปูนหุ้มองค์จริงเอาไว้ จนเป็นที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน

การสร้างตำนานพระลอยน้ำนี้ ถือเป็นกุศโลบายการสานสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นในสมัยโบราณ ลักษณะการเชื่อมโยงสภาพภูมิศาสตร์ เข้ากับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต เป็นเสมือนการบ่งบอกว่าคนไทย ที่มีรากเง้าผูกพันกันมาช้านาน และถือว่าทุกคนเป็นลูกเป็นหลานเป็นญาติที่สืบทอดจากต้นตอเดียวกัน การผูกสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

12. คนเลี้ยงไก่

มีคนเลี้ยงไก่ 2 คน

  • คนที่ 1 ทุกเช้าจะนำตะกร้า เข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วเก็บ "ขี้ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน ทิ้งไข่ไก่ให้เน่าในโรงเรือน เมื่อเขาเอาขี้ไก่กลับถึงบ้าน ทั้งบ้านก็เหม็นหึ่ง ไปด้วยกลิ่นขึ้ไก่ คนทั้งบ้านต้องทนกับกลิ่นเหม็นนั้น

  • คนที่ 2 ทุกเช้าจะนำตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วเก็บ "ไข่ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน เขาเอาไข่ไก่ลงเจียว กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้าน คนทั้งบ้านได้กินไข่เจียวแสนอร่อย ไข่ไก่ที่เหลือ เขาก็เอาไปขาย แล้วได้เงินมาใช้จ่ายในบ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุข

ในชีวิตของคนเรา พวกเราเป็นคน เก็บ "ไข่ไก่" หรือเก็บ "ขี้ไก่"

  • เราเก็บ "ขี้ไก่" ก็เฝ้าแต่เก็บเรื่องร้ายๆ แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราไว้ในใจของเรา และมีความทุกข์ตลอดเวลาที่คิดถึงมัน

  • หรือเราจะเก็บ "ไข่ไก่" จดจำสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา และมีความสุขทุกครั้งที่ได้คิดถึงมัน

คนเราส่วนใหญ่ชอบเก็บ "ขี้ไก่" เราจึงต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา ก่อให้เกิดเรื่องความเสียใจ ความผิดพลาด ความเจ็บใจ ให้ติดอยู่ในใจของเรานานเท่านาน

11. บุญ-บาป เป็นพลังงาน

1. บุคคลที่มีจิตมีสัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ มีจิตเมตตาปราณี ทางการแพทย์พบว่า ต่อมใต้สมอง จะผลิตสารบุญเรียกว่า เอนดอร์ฟีน (Endorphine) ออกมามากส่งผลให้ร่างกายเบาสบาย ที่เรียกว่า เกิดปิติ กินได้นอนหลับ ไม่ฝันร้าย หรือไม่ฝันเลย ผิวพรรณผ่องใสใบหน้าสดชื่น โคเรสเตอรอลละลายสลายตัว เม็ดเลือดขาวแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคสูง ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดี เจ็บป่วยทางกายน้อยลง บาดแผลหายเร็ว กว่าผู้มีจิตใจเป็นบาปถึงเท่าตัว หากเป็น โรคมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะหยุดหรือลุกลามช้าลง

2. ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่จิตมีมิจฉาสมาธิ มิจฉาทิฏฐิ จิตที่คิดเกลียด โกรธ อิจฉาริษยา อาฆาต พยาบาทเคียดแค้น เครียด วิตกกังวล ต่อมหมวกไตจะสร้างสารบาปออกมามาก สารนี้จะซึมเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย ดังนี้

2.1 สารแอดรินาลิน (Adrenalin) ทำให้หัวใจเต้นเร็วแรง เส้นโลหิตแดงหดเกร็ง เป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ถ้าเส้นเลือดแดง ที่ไปหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อผนังหัวใจ หดจนตีบตัน หัวใจจะวายถึงตายได้ โคเรสเตอรอล จะถูกสร้างขึ้นทั้งๆ ที่มิได้รับประทานไขมันสัตว์ กะทิ ไข่แดง หอยนางลม หรือเครื่องในสัตว์มากกว่าปกติ

2.2 สารสเตียร์รอยด์ (Sterroid) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการหลั่งน้ำย่อยอาหาร อาจมีผลทำให้หลั่งมากหรือน้อยก็ได้ ถ้าหลั่งมาก น้ำกรด ในน้ำย่อยย่อมกัดผนังด้านในของกระเพาะอาหารทำให้ปวดท้อบริเวณลิ้นปี่ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ถ้ากัดกร่อน เส้นเลือดใหญ่ทะลุ จะอาเจียนเป็นเลือด หากช่วยไม่ทันจะเสียเลือดจนตาย ถ้าหลั่งน้อย ท้องจะอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ไม่อยากรับประทานอาหาร

2.3 สารแลคติค แอซิด หรือ เกลือแลคติค (Lactic Acid) ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลต่อร่างกาย คือ

- ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำลายความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาว เหมือนฤทธิ์ของ HIV เชื้อโรค AIDS ร่างกายจึงอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย หายช้า

- เกล็ดเลือดในกระแสโลหิตจับตัวกันเป็นลิ่มเล็กๆ ไปอุดตันตามหลอดเลือดฝอยต่างๆ ถ้าเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญ เช่น มันสมองจะทำให้เกิดอัมพาตได้

พลังงานแห่งวิบากกรรม เหล่านี้ เมื่อถูกก่อขึ้นแล้วมิอาจสูญหายไปในทางใดได้ พลัง งานดังกล่าวจะตามสนองเรื่อยไป ตามโอกาสตราบจน ผู้นั้นสิ้นกิเลส สิ้นกรรม ไม่ก่อพลัง งานของกรรมใหม่อีกต่อไป ที่เรียกว่า กรรมเป็นผู้ติดตาม

เมื่อท่านทราบผลกรรมที่เป็นปัจจุบันกรรมเช่นนี้แล้ว ขอได้หยุดสร้างกรรมต่อกัน ทั้ง มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม พลังงานของวิบากกรรม จะเกิดขึ้นน้อย หรือไม่เกิดขึ้น การทำงานทุกระบบของร่าง กาย จะเป็นปกติ ท่านจะมีสุข ภาพสมบูรณ์ทั้ง ร่างกาย และจิตใจ

ขอขอบคุณสัจธรรม - พญ. บุษกร สวัสดิ์-ชูโตหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2536 และ 30 มกราคม 2537

10. ยศศักดิ์น่าขบขัน

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นสมเด็จฯ โต เป็นมหาโต มีอันต้องจาริกไปตามป่าลำเนาไพร ดงพญาไฟ ทั้งยังได้ข้ามไปประเทศลาวและเขมรอีก รวมเวลาที่เข้าป่าได้ 25 ปี ตลอดเวลาที่รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ ในช่วงนั้น ท่านได้ฝึกฝนอบรมเป็นอย่างดี ทำให้ท่านลึกซึ้งในพระธรรมมากขึ้น

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ก็ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงประกาศตามหาตัวมหาโต พระที่มีรูปร่างผอม หน้าตาคล้ายมหาโต ถูกนำเข้าเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก ข่าวการตามหาพระมหาโต ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ชาวบ้านต่างรู้ว่า พระเจ้าแผ่นดินสั่งให้ตามหามหาโต

สมเด็จฯ โต ในฐานะมหาโต ได้ฟังข่าวจากชาวบ้าน ก็อุทานว่า “กูหนีมา 25 ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศตามหา” เนื่องจากท่านไม่รู้ว่า บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ไม่ใช่รัชกาลที่ 3 ที่ประกาศจับท่าน

เมื่อไต่ถามได้ความว่าเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว ท่านก็ปรากฏตัวที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น บอกให้ตำรวจช่วยนำท่านเข้าบางกอก

เมื่อเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 ทรงตรัสถามว่า “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินแล้ว ท่านต้องช่วยฉัน พยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน”

ต่อมารัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการ ให้กรมสังฆการี วางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาเข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลปัตรแฉกหักทองด้ามงา เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม

เมื่อออกจากวังแล้ว ท่านเดินแบกพัดไปถึงบางขุนพรม บางลำพู เพื่ออำลาญาติโยมที่รู้จักกัน แล้วกลับไปวัดมหาธาตุ ร่ำลาพระภิกษุสงฆ์ แล้วลงเรือข้ามไปวัดระฆัง

ท่านเดินแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัตร เครื่องอัฐบริขาร กาน้ำเหล่านี้ เต็มไม้เต็มมือท่าน ดูพะรุงพะรัง เก้ๆ กังๆ

ท่านได้นำพัดยศที่ได้รับพระราชทานมา นั่งเรือแจวให้พาไปที่วัดระฆังฯ ระหว่างทางพายเรือเข้าคลอง น้ำในคลองแห้ง ทำให้ท้องเรือติดโคลน พายไม่ไป ขรัวโตจึงลงจากเรือ ไปช่วยคนแจวเข็นเรือ ชาวบ้านเห็นเข้า ก็ร้องบอกกันว่า ดูนั่น ขรัวโตเจ้าอาวาส พระราชาคณะ ลงไปเข็นเรือ ขรัวโตได้ยินก็ร้องตอบกลับไปว่า "พระราชาคณะนั่นอยู่ในเรือ ส่วนที่เข็นเรืออยู่นี่เป็นขรัวโตจ้ะ"

9. การเชิญระฆัง

เราไม่เรียก การเคาะระฆัง หรือ ตีระฆัง แต่จะเรียกว่า การเชิญระฆัง และไม่เรียกไม้ที่ใช้ตีระฆังว่า ไม้ตีระฆัง หรือ ไม้เคาะระฆัง แต่จะเรียกว่า ไม้เชิญระฆัง ระฆังคือ ผู้ถูกเชิญ ไม้คือ ผู้เชื้อเชิญ บุคคลผู้เชิญระฆังคือ ปรมาจารย์ผู้เชิญระฆัง (Bell Master) ระฆังเป็นดั่งพระโพธิสัตว์ที่ช่วยให้ตื่นรู้

การฝึกฝนตนเอง เพื่อให้เป็นผู้เชิญระฆังที่ดี เป็นสิ่งที่งดงามมาก ก่อนเชิญระฆังเราจะไหว้ทำความเคารพก่อน เราไม่ได้ไหว้ระฆังโดยอัตโนมัติ แต่เป็นการไหว้เคารพอันเต็มเปี่ยมด้วยสติ เพราะเราเห็นว่าระฆังว่าคือทูตของพระพุทธองค์

หายใจเข้าอย่างมีสติ เรารู้ว่าทูตของพระพุทธองค์อยู่ตรงนี้ หายใจออก เรายิ้มด้วยความนอบน้อมระลึกในความเมตตา การหายใจเข้า-ออกเช่นนี้ จะนำความสงบ ผ่อนคลายมาสู่ตัวเรา เพื่อให้ตัวเราพร้อมก่อนเชิญระฆัง เราตามลมหายใจ 2 ครั้ง พร้อมท่องกลอนคาถา ดังนี้

หายใจเข้า กาย วาจา ใจ เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ หายใจออก ฉันส่งหัวใจนี้ไปพร้อมกับเสียงระฆัง

หายใจเข้า ขอให้ผู้คนตื่นจากความหลงลืม หายใจออก ข้ามพ้นจากความกระวนกระวาย และความเศร้าหมองทั้งปวง

เมื่อสมัยที่ท่านติช นัท ฮันห์ ยังเป็นเณร ก็ฝึกเช่นนี้ แต่ฝึกในภาษาจีน เราสามารถฝึกคาถานี้เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาไทยได้ เมื่อทำเช่นนี้ เราจะมีความพร้อมเพียงพอที่จะเป็นปรมาจารย์ผู้เชิญระฆัง (Bell Master) หากเราไม่มีความสงบเพียงพอ ไม่ผ่อนคลาย ไม่มีความสุข เราไม่ควรเชิญระฆังแห่งสติ

เสียงระฆัง เป็นดั่งเสียงของพระพุทธองค์ ที่เรียกพวกเราให้กลับบ้าน พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่บนฟ้า ไม่ได้อยู่ที่ก้อนเมฆ แต่ดำรงอยู่ในหัวใจของเรา พระพุทธเจ้ากำลังเรียกกลับบ้านขอให้เราหยุดคิด หยุดพูด และเตรียมตัวรับฟังเสียงพระพุทธองค์

เมื่อเชิญระฆังครึ่งเสียง (ปลุกระฆัง) เธอปล่อยให้คนอื่นๆ ได้มีเวลาเตรียมตัวเองเพียงพอ เพื่อจะฟังเสียงระฆัง ให้เขาตามหายใจสัก 1 ครั้ง (เข้า-ออก) ให้เขาหยุดพูด หยุดคิด จากนั้นเธอเชิญระฆังเต็มเสียง

เมื่อระฆังเสียงที่ 1 ดังขึ้น เธอให้เวลาสำหรับทุกคน เพื่อรับฟังเสียงระฆังนี้ ให้เขาได้ตามลมหายใจสัก 3 ลมหายใจ ในขณะที่หายใจเข้า เธอกล่าวในใจว่า ฉันฟัง ฉันกำลังฟังอยู่ เตือนเซลล์ทุกอณูเซลล์ในร่างกายให้ผ่อนคลาย ให้ทุกอณูเซลล์หายใจไปพร้อมๆ กับเรา เรามีเซลล์นับล้านอยู่ในตัวของเรา เมื่อเราฟัง เซลล์นั้นก็ฟังอยู่ด้วย และได้รับความสงบและผ่อนคลายพร้อมกับเรา นี่คือการฟังอย่างลึกซึ้ง นี่คือการผ่อนคลายร่างกาย และ ผ่อนคลายความรู้สึกของเรา

ระฆังมีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก หากเราเชิญระฆังเล็ก เราวางระฆังเล็กบนฝ่ามือ จินตนาการว่า มือของเราเป็นดอกบัว ระฆังคืออัญมณีที่อยู่ใจกลางดอกบัว อัญมณีที่อยู่ ณ ใจกลางดอกบัว ก็คือคำกล่าวที่ว่า “โอม มณี ปัทเม ฮุม”

เราหยุดคิด หยุดพูด เราเงียบ เพื่อสร้างอัญมณีใจกลางดอกบัว ฟังสิ ฟังเสียงระฆังอันประเสริฐ เสียงระฆังนำฉันกลับสู่บ้านที่แท้จริง

เมื่อเราฟังเสียงระฆังครบ 3 เสียงแล้ว เราวางระฆังบนเบาะ ให้ระฆังนั่งสมาธิต่อไป เราไหว้คำนับระฆังอันเปรียบดั่งพระโพธิสัตว์ ระฆังเป็นดั่งตัวแทนของพระพุทธองค์

ธรรมบรรยายโดย ท่าน ติช นัท ฮันห์งานภาวนา Happy Teacher will Change the World6 เมษายน 2556 : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วังน้อย อยุธยา

ความลับพระศพในพระโกศ

8. พระศพในพระโกศ ธรรมเนียมการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และการเชิญศพลงโกศ

ตามโบราณราชประเพณี การขอรับพระราชทานอะไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานต้องแสดงกริยาต่างๆ เช่น ทำความเคารพหรือเอางาน (ยื่นแขนแล้วตวัดมือขึ้น)

แต่ในกรณีศพที่ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ (โดยการเสด็จพระราชดำเนิน) ซึ่งศพไม่สามารถแสดงกริยา หรือลุกขึ้นรับพระราชทานน้ำหลวงได้ เจ้าพนักงานภูษามาลา จึงต้องพยุงศพขึ้นให้อยู่ในท่านั่ง เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวง เสมือนการขอรับพระราชทานจากพระองค์ ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ ทรงตรัสเล่าถึงอาการสำรอก (อาเจียน) ของพระศพพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง (พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร) ไว้ว่า ...

วันที่เสด็จไปวังมะลิวัลย์ เพื่อพระราชทานน้ำหลวงอาบพระศพ เมื่อถึงเวลา เจ้าพนักงานภูษามาลาก็ได้พยุงพระศพขึ้นในท่านั่ง เพื่อขอรับพระราชทานน้ำหลวง แต่เมื่อดันพระศพขึ้น พระศพก็อาเจียนเอาสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายออกมา ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่ามองนัก ต่อมาพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่โปรดให้เจ้าพนักงานพยุงพระศพหรือศพขึ้นรับพระราชทานน้ำหลวง ด้วยเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก จึงอนุโลมให้ศพอยู่ในท่านอนราบแทน

ในปัจจุบัน การพยุงศพขึ้นรับน้ำหลวงนั้นยังมีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากเจ้าพนักงานจะแค่สอดมือไปในฟูกด้านหลังของศพพยุงขึ้นเล็กน้อย (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน) หรือจับไปที่ต้นแขนทั้งสองของศพพอเป็นพิธีว่าลุกขึ้นรับน้ำหลวงอาบศพ (ในกรณีมีผู้แทนพระองค์)

เมื่อเสร็จพิธีต่างๆ แล้ว เจ้าพนักงานภูษาจะปูผ้าขาว 3 ผืน ปูซ้อนเป็นรูปหกแฉก แล้วเชิญศพนั่งบนผ้าขาว แล้วรวบชายประชุมไว้เหนือศีรษะของศพ จากนั้นจึงมัดตราสังด้วยด้ายดิบ แล้วเจ้าพนักงานก็เชิญศพลงสู่โกศ ยัดหมอนไว้ในแต่ละด้านเพื่อป้องกันศพไม่ให้เอนเอียง แล้วใช้ไม้กระจับค้ำคางของศพไม่ให้คอตก (ไม่มี

การใช้ไม้หรือเหล็กแทงเข้าไปในศพแต่อย่างใด) ในกรณีเป็นพระศพเจ้านายชั้นสูง หรือพระเจ้าอยู่หัว ก่อนปิดฝาพระโกศ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะเชิญฉลองพระพักตร์ทองคำ (หน้ากากทอง) และพระชฎาออกมาห่อผ้าขาวเก็บไว้เพื่อหลอมเป็นพระพุทธรูปต่อไป

(จากภาพบนซ้าย) พระแท่นบรรทม เพื่อเตรียมการพระราชทานน้ำหลวงสรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะสังเกตเห็นพระชฏาและแผ่นพระพักต์ทองคำ ตั้งอยู่เหนือพระแท่นบรรทมทางด้านขวามือของภาพ

(จากภาพบนขวา) สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม เห็นได้ว่าเจ้าพนักงานพยุงศพจากด้านหลังเพื่อให้ศพขอรับพระราชทานน้ำหลวง

(จากภาพด้านล่าง) ลักษณะการเชิญศพลงโกศลองใน (โกศโลหะ) และประกอบโกศอีกชั้นหนึ่ง (ทำด้วยไม้ปิดทองแกะสลักลวดลายตามแต่ละชั้นหรือชนิดของโกศ) ตามพระเกียรติยศที่ได้รับ เช่น พระโกศทองใหญ่ เป็นต้น ในภาพคือ โกศโถที่จะพระราชทานให้ ท่านผู้หญิง หรือผู้ได้รับพระราชทานตรามงกุฎไทย หรือผู้ประกอบคุณความดีตามเห็นสมควร

ขอบคุณภาพการนั่งโกศจากคุณ NAVARAT.C

7. ความรัก และคู่ครอง

ความรัก 4 ระดับ

  1. รักใคร่ไฝ่กามา

  2. รักหวังวิวาห์มาคู่กัน

  3. รักปันแบ่งความสุข

  4. รักยอมทุกข์เพื่อสุขเธอ

ภรรยา 7 ประเภท

การดูว่าใครเป็นภรรยาชนิดไหน ต้องดูหลังจากแต่งงานแล้วระยะหนึ่ง

1. วธกาภริยา

ภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาต คือภรรยาที่มีใจคิดล้างผลาญชีวิตสามี พยายามฆ่าสามี ยินดีในชายอื่น ตบตี แช่งด่าสามี

2. โจรีภริยา

ภรรยาเสมอด้วยโจร คือภรรยาที่ชอบล้างผลาญทรัพย์สามี ใช้ทรัพย์ไม่เป็นบ้าง ยักยอกทรัพย์เพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง สร้างหนี้สิน ให้ตามใช้บ้าง

3. อัยยาภริยา

ภรรยาเสมอด้วยนาย คือภรรยาที่ชอบล้างผลาญศักดิ์-ศรีสามี ไม่สนใจช่วยการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย กล่าวคำหยาบ ชอบข่มขี่สามีซึ่งขยันขันแข็ง เหมือนเจ้านายข่มขี้ข้า ภูมิใจที่ข่มสามีได้

4. มาตาภริยา

ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือภรรยาที่มีความรัก เมตตาสามีไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมารดารักบุตร เช่น สามีจะตกต่ำหมดบุญวาสนา จะป่วยจะพิการตลอดชีวิตก็ไม่ทอดทิ้ง ไม่พูด ไม่ทำให้สะเทือนใจ แม้ตายจากไปตั้งแต่ตนยังสาวก็ไม่ยอมมีสามีใหม่

5. ภคินีภริยา

ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือภรรยาที่เคารพสามี มีความรักยั่งยืน แต่มีขัดใจกันบ้าง ทั้งซน ทั้งงอน ทั้งขี้ยั่ว ทั้งขี้แย ต้องทั้งขู่ทั้งปลอบ ประเดี๋ยวจะเที่ยว ประเดี๋ยวจะกิน จะแต่งตัว แต่ก็ซื่อสัตย์ต่อสามี

6. สขีภริยา

ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน คือภรรยาที่มีรสนิยม มีความชอบเหมือนสามี ถูกคอกัน เป็นคนมีศีลธรรม มีความประพฤติดี แต่อาจมีความทะนงตัวโดยถือว่าเสมอกัน หากฝ่ายตรงข้ามขาดเหตุผลก็ไม่ยอมกันก็เป็นได้

7. ทาสีภริยา

ภรรยาเสมอด้วยคนใช้ คือภรรยาที่ทำตัวเหมือนคนใช้ ถึงสามีจะเฆี่ยนตี ดุด่า ขู่ตะคอก ก็ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ อยู่ในอำนาจสามี

การแต่งงาน 2 ระยะ

  1. ระยะแต่ง คือก่อนเป็นสามีภรรยากัน ต่างคนต่างแต่ง ทั้งแต่งตัว แต่งท่าทางอวดคุณสมบัติให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็น

  2. ระยะงาน คือหลังจากเป็นภรรยากันแล้ว ต่างคนต่างต้องทำงานตามหน้าที่ ใครมีข้อดีข้อเสีย มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติอย่างไรก็จะปรากฏชัดออกมา

อ่านต่อ

6. พร และที่มาของการใช้พร

ขอพร-ให้พร

เมื่อถึงเทศการสำคัญ ปีใหม่ หรืองานมงคลใดๆ ทุกท่านจะคุ้นชินกับการให้พร หรือรับพร จากผู้ที่รู้จัก บางท่านก็ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต่างหวังว่า พรนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ในความเป็นจริง พรศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่? พรคือสิ่งใดกันแน่? อย่างไรเป็นพรที่แท้จริง? และอย่างไรเป็นพรที่ประเสริฐที่สุด?

โดยแท้จริงแล้ว คำว่า พร นั้นแปลว่า คำพูด ที่แสดงถึงความ ปรารถนา เกิดจากผู้รับพร ต้องการความดี ความเป็นศิริมงคล

เรื่องของการให้พร การขอพร มีบันทึกมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ทรงคำนึงเรื่อง ศีล และความถูกต้อง จึงไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุให้พรใดๆ แม้พระองค์เอง ก็ไม่ให้พร แต่สอนให้ทำความดีแทน

เมื่อนางวิสาขา ซึ่งเป็นอุบาสิกา มาขอพร พระพุทธองค์ตรัสว่า "ตถาคตเลิกให้พรแล้ว วิสาขา เพราะความสำเร็จ ย่อมไม่ได้จากพรที่รับ แต่มาจากผลของกรรม หรือการกระทำที่ทำไว้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ใดทำกรรมอย่างใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น"

แต่ต่อมา เมื่อพระสงฆ์ไม่ให้พรเลย ก็เป็นที่ติเตียนของชาวบ้านอีก พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาและเห็นว่า ที่แท้แล้ว ชาวบ้านต้องการสิ่งที่เป็นมงคล จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุให้พรได้ ดังพุทธพจน์นี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่งเป็นมงคล เราอนุญาตให้ภิกษุ ให้พรตอบแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชนมายุยืนนาน" พระวินัยปิฎก ๗/๑๘๖

ถ้าสังเกตุดีๆ จะพบว่า เมื่อมีการอวยพร หรือรับพร ทุกคนจะรู้สึกได้ทันทีว่า นั่นเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมีคุณธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ ในการให้พร นั่นคือ "เมตตาธรรม" เป็นความเมตตาของผู้ให้พร ที่ประสงค์จะให้ผู้รับ มีความสุข มีความเจริญ ได้รับสิ่งที่ดี ผู้รับเองก็รู้สึกได้ในทันที ดังนั้น การให้พร และรับพร จึงเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ในสังคมเรา

การขอพร ก็เป็นเรื่องแปลก ความจริง เราทุกคนก็ทราบกันว่า "ผลย่อมมาจากเหตุ" คือ ทำดี ก็ย่อมได้ดี แต่ในสมัยนี้ เมื่อเราขอพร เราก็มักจะขอผลที่ดีงามเลย คือ ขอผลดี โดยไม่หวังว่าจะทำเหตุที่ดีแต่อย่างใด ต่างกับในสมัยโบราณ ที่คนจำนวนมาก ขอพรที่จะได้ทำเหตุที่ดี คือ ขอเพื่อจะได้มีโอกาสทำความดี เช่น พรของนางวิสาขา เป็นต้น

นางวิสาขา ได้ขอพรที่จะถวาย ผ้าสรง น้ำ อาหาร ที่เหมาะกับภิกษุอาพาธ และยา เป็นต้น คือ ขอต่อพระพุทธองค์ให้ภิกษุรับของเหล่านี้ได้ จากบุคคลที่ต้องการถวาย โดยนางวิสาขา ไม่ได้ขอพรอะไรให้แก่ตนเองเลย แต่เป็นการขอโอกาสที่จะทำดี และให้มีพุทธบัญญัติ ให้พระสงฆ์รับสิ่งเหล่านี้ได้จากคนทั่วไป เพื่อที่ทุกคนจะได้ทำบุญเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม การให้พรหรือรับพร เป็นเรื่องของความดีงามทั้งสิ้น แต่นี้ไป เมื่อเราจะให้พรใคร ให้ตั้งความเมตตาไว้ในใจ แล้วให้พร เมื่อจะรับพร ให้คิดว่า เราจะทำสิ่งที่ดีงาม เพื่อที่พรที่เรารับนั้นจะได้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคลมากขึ้น

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เมื่อเรามี ความสุจริตพร้อม ทั้งกาย วาจา ใจ เมื่อนั้น คือ มงคลดี เวลาดี จะทำอะไรก็ดี จะรับพร ก็ย่อมต้องดีด้วยเช่นกัน ฯ

จากหนังสือ "พรอันประเสริฐ". โดย น.ท. น.พ. จักรพงศ์ ไพบูลย์

5. เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา

แม้พุทธศาสนาจะถือกำเนิด และดำรงอยู่อย่างมั่นคงมากว่า 2,600 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลอีกไม่น้อย ที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก อาจยังไม่รู้


  1. เจ้าชายสิทธัตถะมีอีกพระนามหนึ่งว่า “อังคีรส” แต่พระราชบิดาทรงโปรดเรียกว่า “สิทธัตถะ” มากกว่า

  2. ต้นพระศรีมหาโพธิ เดิมชื่อว่า ต้น “อัสสัตถพฤกษ์” แต่ที่เปลี่ยนมาเรียกเช่นนี้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชนิดนี้ (โพธิ หรือ โพธิ์ แปลว่า ตรัสรู้)

  3. หญ้าที่นายโสตถิยะ นำมาถวายเพื่อปูลาดเป็นที่ประทับคือ ต้นตะไคร้หอม

  4. สันโดษ ในทางพุทธศาสนาหมายถึง ความยินดี ความพอใจ และรู้จักพอ มิใช่การอยู่ลำพัง

  5. มีตำนานเล่าว่า พระพุทธรูปองค์แรกในพุทธศาสนา สร้างขึ้นจากพระดำริของพระเจ้าปเสนทิ แห่งแคว้นโกศล เป็นพระพุทธรูปยืน สลักด้วยไม้แก่นจันทน์แดงสูงประมาณ 6 - 7 เมตร

  6. ประเทศไต้หวัน ใช้บาตรเป็นภาชนะดินเผาเคลือบ ต่างจากบาตรในเมืองไทยที่มักเป็นบาตรโลหะ

  7. บุญที่ให้อานิสงส์สูงสุด คือการเจริญวิปัสสนา เพราะเป็นการสร้างปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การหลุดพ้น หรือนิพพาน

  8. เครื่องเขียนกับสมุด คือของสังฆทานที่พระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด (จากการสำรวจของรายการ “จุดเปลี่ยน” ในปี 2551)

  9. การจุดธูป 3 ดอก เพื่อบูชาพระรัตนตรัยนั้น วิธีปักธูปที่ถูกต้อง ต้องปักทีละดอก โดยปักดอกหนึ่งด้านซ้ายมือ ดอกหนึ่งปักตรงกลางกระถางธูป อีกดอกหนึ่งปักด้านขวามือ มิใช่ปักรวมกัน

  10. การสวดมนต์ ที่ผู้สวดมีความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเทียบเท่ากับการได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จัดเป็นกุศลกรรมอย่างหนึ่ง

ขอขอบคุณ

4. กายและใจ มิตรแท้ในจินตนาการ

ร่างกาย และจิตใจ มีความสัมพันธ์สมดุลย์ที่ดีต่อกันเสมอ เพียงแต่มนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้สัมพันธ์ดังกล่าวสั่นคลอนไม่มีความสุข


จิตใจ 1 ส่วน

ไม่มีใครรู้ดีว่าอะไรดีและสร้างสรรค์ต่อจิตใจเรา เท่ากับตัวเราเอง อย่าให้ใครหรืออะไร มาตัดสินใจแทนเรา เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของความไม่สมดุลย์


ร่างกาย 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 ความดีงามของกลไกร่างกาย มาตรฐานการซ่อมแซมตนเองโดยอัตโนมัติ กระบวนการนี้จะเริ่มต้นเมื่อได้หลับสนิท อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วง 22-06 น.


ส่วนที่ 2 คือ ความดีงามในการไหลเวียนโลหิตที่ดี ดีงามโดยการจิบน้ำเปล่าเป็นระยะ ๆ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ลิตรต่อวันในช่วงเวลาที่ตื่น ทำให้เลือดไม่เหนียวข้นไหลเวียนดี


สรุป

มนุษย์ควรจัดระเบียบกาย-ใจ เกิดเป็น #สมดุลแห่งชีวิต (Life balance) ไม่เช่นนั้นชีวิตท่าน จะกลายเป็น #ชีวิตไร้บาลานซ์ ส่งผลร้ายในระยะยาว หรือเมื่อบั้นปลายชีวิต นั่นเอง


ธงชัย รำพึง

จากทุกข์แคปชั่นของเหล่าเพื่อนในเฟสบุ๊คเช้านี้

18 กันยายน 2564

3. ชาวพุทธ อย่าหยุดศรัทธา

เห็นความเสื่อมถอยในศีลธรรมจรรยาของผู้ที่ควรเป็นแบบอย่างของสังคมแล้ว ชาวพุทธอย่าด่วนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาเด็ดขาด เพราะจะเป็นการหันหลัง ให้กับเส้นทางพ้นทุกข์ของเราเอง

ความเสื่อมที่ปรากฏ ล้วนเพราะความโลภ โกรธ หลง เกาะกินและเบี่ยงเบนจิตใจกัน

เราทราบดีว่า ศูนย์กลางแก่นแท้แห่งศรัทธาของชาวพุทธนั้น คือพระพุทธเจ้า และคำสอนสู่การพ้นทุกข์ ส่วนพระสงฆ์ ผู้ยึดถือมั่นในพระธรรมวินัย ประกอบเป็นกิจของสงฆ์ 3 ประการ ได้แก่ (1) การศึกษา (2) การปฏิบัติตน และ (3) การเผยแผ่สืบทอด พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา ที่พวกเราควรกราบไหว้เคารพศรัทธา

แม้เป็นกิจของสงฆ์ แต่พวกเราเหล่าคนนอกวัด ก็สามารถยึดถือปฏิบัติ ให้ผู้คนเคารพนับถือศรัทธาได้เช่นกัน

ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตนตามแนวกิจของสงฆ์ ย่อมไร้คนเคารพนับถือ แม้จะปลงผม ห่มเหลือง เรืองรองในสังกัดวัด ก็ไม่อาจให้ใครนับเขาเป็นพระสงฆ์ได้ เพราะพวกเขา ไม่ต่างจากปุถุชน ผู้มากหลายด้วยกิเลส ทั้งไม่สมควรแม้จะเรียกว่า สมมติสงฆ์ เสียด้วยซ้ำ

หยุดศรัทธาที่รูปแบบ แล้วหันหาแก่นแท้แห่งธรรม อันเป็นข้อปฏิบัติอันประเสริฐกันเถิด ความเสื่อมศรัทธา จะได้ไม่กล้ำกรายในใจเรา


ธงชัย สิทธิกรณ์

กันยายน 2564

2. บุคคล 6 ประเภท

1. ผู้มีปัญญาดังหม้อคว่ำ ได้แก่ ผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับฟัง เสมือนหม้อคว่ำ ที่ไม่อาจรองรับน้ำได้เลย

2. ผู้มีปัญญาดังหน้าตัก ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือพอเข้าใจได้ แต่หลังจากนั้นก็ลืมหมด เสมือนผู้ที่กำลังนั่งกินขนมที่วางอยู่บนตัก เมื่อเผลอตัวลุกขึ้น ขนมก็หล่นลงพื้นหมด

3. ผู้มีปัญญามาก ได้แก่ ผู้รับฟัง เข้าใจ และจำได้ เสมือนหม้อหงายรองรับน้ำได้ทั้งหมด

อวกุชชิตสูตร (20/469)

  1. พระศาสนา นัยแห่งพระกับศาสนา

... อีกอย่างหนึ่งคือ การฝากศาสนาไว้กับพระ

ชาวพุทธเป็นจำนวนมากทีเดียว ชอบฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว แทนที่จะถือตามคติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระศาสนานั้นอยู่ด้วยบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่จะต้องช่วยกัน


ทีนี้ พวกเรามักจะมองว่า พระศาสนาเป็นเรื่องของพระ บางทีเมื่อมีพระประพฤติไม่ดี ชาวบ้านบางคนบอกว่าไม่อยากนับถือแล้วพุทธศาสนา อย่างนี้ก็มี แทนที่จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของเรา พระองค์นี้ประพฤติไม่ดีเราต้องช่วยกันแก้ ต้องเอาออกไป แทนที่จะคิดอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าเรายกศาสนาให้พระองค์นั้น เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นบ้านของเรา แทนที่จะรักษาสมบัติของเรา กลับยกสมบัตินั้นให้โจรไปเสีย


พระองค์ที่ไม่ดีก็เลยดีใจ กลายเป็นเจ้าของศาสนา

เรายกให้ แล้วบอกไม่เอาแล้วศาสนานี้ เป็นอย่างนี้ก็มี นี่เป็นทัศนคติที่ผิด


ชาวพุทธเราทั่วไปไม่น้อยมีความคิดแบบนี้ ทำเหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพระ

เราก็ไม่ต้องรู้ด้วย ...


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม


(ธงชัย สิทธิกรณ์ : หัวเรื่อง)

ธันวาคม 2559