ภาพปริศนาธรรม ปฏิจจสมุปบาท ภาพที่ 1 น้ำสามสระ มีคำอธิบายประกอบภาพว่า น้ำ 3 สระคือ ตัณหาทั้งสาม ได้แก่ กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากในกาม ได้แก่ กามคุณซึ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภวตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากในภพ ได้แก่ ความอยากในภาวะของตัวตนที่ จะได้ จะมี จะเป็น วิภวตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากในวิภพ ได้แก่ ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตน จากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา ภาพที่ 2 ช้างกินน้ำ 3 สระ ภาพช้างกินน้ำ 3 สระอยู่ภายในท้อง มีคำอธิบายประกอบภาพว่า ช้างสาร คือ ชาติ กลืนน้ำ 3 สระ คือ ตัณหาทั้งสาม ภาพที่ 3 กบกินช้าง กบกินช้าง ซึ่งมีน้ำ 3 สระอยู่ภายในท้องช้างนั้น มีคำอธิบายประกอบภาพว่า กบ คือ โลภะกลืนชาติ ชาติกลืนตัณหาทั้งสาม ภาพที่ 4 งูกินกบ ซึ่งมีช้างอยู่ในท้องกบ และมีน้ำสามสระอยู่ในท้องช้างนั้น มีคำอธิบายประกอบภาพว่า งู คือ โทสะกลืนโลภะ กลืนชาติ กลืนตัณหาทั้งสาม ภาพที่ 5 นกกินงู ภาพนกไส้ภายในท้องนกมีงู ซึ่งมีกบอยู่ในท้องงู มีช้างอยู่ในท้องกบ และมีน้ำสามสระอยู่ในท้องช้างนั้น มีคำอธิบายประกอบภาพว่า นกไส้คือโมหะกลืนทั้งนั้นบินไปจับต้นอ้อและมีหนู 4 ตัวกำลังกัดกินโคนต้นอ้อนั้น มีคำอธิบายภาพว่า ต้นอ้อคือตัวอาตมา หนู 4 ตัว คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ การถ่ายทอดบทธรรมปฏิจจสมุปบาท เป็นภาพเปรียบเทียบให้เห็นกิเลสที่ปรุงแต่งเป็นปัจจัยต่อๆ กันไป เป็นร่างกายที่มีจิตประกอบด้วยกิเลสเป็นความทุกข์ เนื่องจากกิเลสซ้อนกันอยู่เช่นนั้น ภาพปริศนาธรรมดังกล่าวนี้ ในสมัยโบราณนิยมเขียนภาพลงในสมุดไทย นอกจากนั้นยังพบในงานลายรดน้ำบนตู้พระธรรม และในงานจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหาร ก็มีบ้าง ซึ่งบรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ขึ้น ใช้เป็นอนุศาสน์สำหรับให้คนทั้งหลาย ได้รำลึกถึงความเป็นไปอันไม่แน่นอนของชีวิต ดังเช่นต้นอ้อเป็นไม้ไม่มีแก่น เป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตอันประกอบด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ซ้อนกันอยู่มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเบียดเบียนกัดแทะเป็นนิจ ฉะนั้น ควรที่คนทั้งหลายพึงพิจารณา และเตรียมพร้อมไว้ไม่ให้เกิดความประมาทในชีวิต นั่นเอง ที่มา: http://www.hidhamma.com/ ภาพโดย อ.มาโนชญ์ เพ็งทอง |
วิชาการนอกห้องเรียน > เรื่องราวชาวพุทธ >