

หมาอึหน้าบ้าน-เสียงดัง-รำคาญ ควรทำอย่างไร
หมาอึหน้าบ้าน-เสียงดัง-รำคาญ ควรทำไงดี?
ใครเคยเจอปัญหาจุกจิกกวนใจ จากเหตุเดือดร้อนรำคาญของเพื่อนระแวกบ้านพักอาศัย รับรองได้ว่าต้องรำคาญใจ คล้ายกับการต่อเติมบ้าน วางสิ่งของเกะกะล้ำเข้ามารอนสิทธิ์ผู้อื่น พิษควันดำจากท่อไอเสียของช่างฟิตข้างเคียง เสียงเห่า อึสุนัข รวมทั้งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ หรือพวกจอดรถกีดขวางหน้าบ้านทุกวันทุกคืน แม้กระทั่งใบไม้ปลิวร่วงหล่นใส่หลังคาหรือพื้นบ้าน ก็ล้วนเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทำให้วิมานบ้านของเรา ที่คิดว่าจะพักผ่อนสบายๆ หลังเหน็ดเหนื่อยจากการงาน กลายเป็นอยู่ไม่เป็นสุข หงุดหงิด สะสมกลายเป็นปัญหาใหญ่ หากระงับอารมณ์ไว้ไม่ได้ หรือไม่มีวิธีจัดการที่เหมาะสม ก็อาจบานปลายใหญ่โต สยดสยองสะเทือนใจขึ้นก็ได้
1. ใจเย็น ใช้สติ และการเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจ หากเราเป็นต้นเหตุ ก็ต้องขอโทษ-ขออภัยกัน
- หมาไปอึหน้าบ้านคนอื่น ก็ควร หาสิ่งปิดกั้นไม่ให้หมาไปอึหน้าบ้านผู้อื่น เมื่อเห็นคนแปลกหน้าจะได้ไม่เห่าให้น่ารำคาญ ถ้าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ตัดปัญหาด้วยการไม่เลี้ยงสัตว์จะได้ไม่รบกวนคน อื่น
- ใบไม้ร่วงไปบ้านเพื่อนบ้าน ก็ขยันเก็บกวาดทำความสะอาดหน้าบ้านเขาหน้าบ้านเรา ให้เพื่อนบ้านเห็นประโยชน์จากร่มเงามากกว่าโทษของเศษใบไม้
- อย่าต่อเติม จัดวางสิ่งของ หรือจอดรถ ให้เกะกะ ขวางหน้าบ้านคนอื่น หากจำเป็นต้องจอดให้พูดคุยกับบ้านข้างเคียงเขาด้วย ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องย้ายบ้านหนี
2. หาบุคคลที่ 3 มาไกล่เกลี่ย หรือร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน หรือสำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการ อบต.ในพื้นที่ แต่ต้องทำใจว่าการร้องเรียนนี้ อาจทำให้เกิดกินแหนงแคลงใจกับเพื่อนบ้าน จนมองหน้ากันไม่ติด ต่างคนต่างอยู่ มึนตึงไม่สุงสิงกัน
นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม. บอกว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มีการร้องเรียนมาที่สำนักงานเขตพื้นที่หรือผ่านทางศูนย์ กทม.โทร 1555 ประมาณ 70-80% เป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ จากปัญหาเรื่องจอดรถขวางหน้าบ้าน ต่อเติมล้ำบ้านคนอื่น ปัญหาส่งเสียงดังรำคาญ โดยทางศูนย์ 1555 จะประสานสำนักงานเขตพื้นที่ หรือหากแจ้งสำนักงานเขตโดยตรง ภายใน 3 วัน จะส่งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมเข้าตรวจสอบปัญหา อาทิ เดือดร้อนรำคาญจากมูลสุนัข กลิ่น เสียง จะออกหนังสือเตือนเจ้าของบ้านให้เร่งแก้ไขภายใน 7 วัน หากยังเพิกเฉยจะสั่งปรับทันทีไม่เกิน 2 พันบาท ตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข ปี 2535 ซึ่งให้อำนาจส่งฟ้องศาลจำคุกไม่เกิน 1 เดือนด้วย

เป็นปัญหาเล็กน้อยอย่างต้นไม้ล้ำหรือใบไม้ปลิวก็ใช้กฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.ลหุโทษ ป. วิอาญา ปรับ ไม่เกิน 500 บาทก็ได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือให้พูดคุยจัดการปัญหากันเอง จะได้ไม่บาดหมางใจกัน เป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรู หรือฆาตกรข้างกายโดยไม่รู้
ดังนั้น ควรเตือนสติตนเองเสมอว่า ต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นเหมือนที่รักษาสิทธิ์ของตัวเอง รู้กฎ รักกติกา มีมารยาท จะช่วยขจัดปัญหาจุกจิกกวนใจที่จะเกิดขึ้น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงยึดหลักกฎหมาย 
