![]() สิงคโปร์ อาจหมดยุคความเป็นสวรรค์นักช็อป สินค้าแบรนด์เนมรวมหัวม้วนเสื่อถอนสมอ ชะตากรรมเศรษฐกิจและธุรกิจของสิงคโปร์ อาจต้องเผชิญกับวิบากกรรมสาหัสสากรรจ์อย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน เมื่อดัชนีชี้วัดชีพจรความเคลื่อนไหวของทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจล้วนอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงยิ่งนัก ถือเป็นปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายอย่างยิ่งสำหรับประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังเกิดกระแสการอพยพ เคลื่อนย้ายการลงทุนหนีออกจากสิงคโปร์ ของบรรดาสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก ควบคู่ไปกับการทยอยปิดตัวเองลง ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่ง ทั้งที่ใกล้เวลาของการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเต็มรูปแบบเต็มที และน่าจะเป็นประเทศศูนย์กลางการทำธุรกรรมทางธุรกิจที่สำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำคัญที่สุดคือ กาสิโนรีสอร์ต หรือสวนสนุกระดับโลก ที่เคยเชื่อกันว่าจะเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพสูงในการดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ให้เข้าไปใช้จ่ายเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจในสิงคโปร์ ก็ไม่ช่วยอะไรได้ Lowrys Farm ค่ายเสื้อผ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น River Island แบรนด์สินค้าชั้นนำจากอังกฤษ รวมถึง Aussino Group แบรนด์สินค้าชั้นนำจากอเมริกา ต่างพากันม้วนเสื่อถอนสมอออกจากสิงคโปร์ไปเรียบร้อย ห้างสรรพสินค้า Parco หรือ Franc-Franc ก็ยุติการดำเนินกิจการในสิงคโปร์ลงเช่นกัน อิเซตัน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มจะปรับลดขนาดพื้นที่บริการของสาขาในสิงคโปร์ ให้กะทัดรัดกว่าที่เป็นอยู่ 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการประเภทอินเตอร์แบรนด์ พากันทยอย "ม้วนเสื่อ" ถอนการลงทุนออกจากสิงคโปร์ ได้แก่ ประการแรก ต้นทุนค่าจ้าง ค่าดำเนินงานต่อรายได้ ลดน้อยถอยลงจนน่าใจหาย หรือพูดให้ง่ายคือ "กำไร" ลดลง เสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ "ขาดทุน" หากยังดำเนินธุรกิจต่อ จึงต้องพากันชิงตัดไฟแต่ต้นลม ประการที่สอง จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่แข็งแรงที่สุดของสินค้าแบรนด์เนม และห้างสรรพสินค้าระดับเวิลด์คลาส มีแนวโน้มถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ประการที่สาม กระแสนิยม การจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทางการสิงคโปร์ ดูจะตระหนักรู้ถึงปฏิกิริยาทางลบที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอย่างดี และพยายามสร้างแรงจูงใจ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมากระเตื้องเฟื่องฟูขึ้น เพื่อสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาแก่ระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ รูปธรรมที่สะท้อนความพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวชัดเจน คือการดำเนินการของธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ ที่บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งสกุลเงินบาทของไทย เบื้องลึกของการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว คือการทำให้ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาความสุขจากการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ย่อมเยาลง จากค่าเงินที่อ่อนลง ซึ่งน่าจะเป็นพลังเหนี่ยวนำให้นักท่องเที่ยวหันกลับมาท่องเที่ยว มาช็อปปิ้งในสิงคโปร์มากขึ้น ก่อนที่สิงคโปร์ต้องกลายเป็น "เกาะร้าง" Source: Bank of Thailand Scholarship Students Mar 14 คอลัมน์ ธุรกิจโลก สยามธุรกิจ |
เรื่องในกระแส >